Pages Navigation Menu

สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา

การแพทย์แผนไทยสู้ภัยโควิด – 19

ถึงเวลาใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยสู้ภัยโควิด-19 ช่วยชาติ

สถานการณ์ของโรคระบาดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือที่เรียกว่า “โควิด-19” (COVID-19) กำลังสร้างปัญหาสั่นสะเทือนทั่วโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเกิน 1 ล้านคนแล้ว สำหรับในประเทศไทย ณ วันที่ 8 เมษายน 2563 มียอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ 2,369 ราย เสียชีวิตรวม 30 ราย และมียอดผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังอยู่นับหมื่นราย ซึ่งมีรายงานการคาดการณ์การระบาดจากศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ว่าการระบาดของโรคยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถควบคุมโรคได้ รัฐบาลจึงต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศเคอร์ฟิวห้ามบุคคลใดทั่วราขอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 ถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2563 เป็นต้นไปทั่วประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดของโรค

วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ สร้างความตื่นตระหนกและตื่นกลัวในหมู่ประชาชนคนไทยเป็นอย่างมาก ประชาชนต่างแสวงหาหนทางที่คิดว่าจะช่วยพาตนเองให้รอดพ้นภัยจากโรคโควิด-19 โดยต่างแย่งกันซื้อหาหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อ เจลล้างมือแอลกอฮอล์ มาไว้ใช้จนสินค้าขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน สิ่งที่ประชาชนต้องการมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ “ยารักษาโรคโควิด-19” แต่เนื่องจากโรคนี้ ยังไม่มียาสมัยใหม่ที่สามารถรักษาได้ผลเชิงประจักษ์ จึงมีประชาชนจำนวนมากเสาะแสวงหายาสมุนไพรที่เชื่อว่าจะช่วยป้องกันรักษาโรคได้ ต่างก็แสวงหามาไว้ในครอบครอง จนทำให้ยาสมุนไพร เช่น ยาฟ้าทะลายโจร ยาห้าราก และยาอื่นๆที่เกี่ยวกับการรักษาโรคไข้เกิดภาวะขาดแคลนในท้องตลาดอีกเช่นกัน
จากสถานการณ์วิกฤติของโรคไวรัสโควิด – 19 ดังกล่าวนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่จะนำภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยออกมาใช้ดูแลประชาชนคนไทยทั้งในเชิงป้องกันและรักษาโรคโควิด – 19 เพื่อช่วยชาติให้พ้นภัยอีกทางหนึ่ง ซึ่งหลักการแพทย์แผนไทยได้มีคัมภีร์ตักศิลาซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ใช้รักษาโรคไข้มาช้านานหลายร้อยปี เนื้อหาในคัมภีร์ครอบคลุมอาการไข้ทั้งหมด 11 กลุ่มอาการ ประกอบด้วย
1. ไข้พิษไข้กาฬ 21 จำพวก
2. ไข้รากสาด (ไข้กาฬ) 9 จำพวก
3. ไข้ประดง (ไข้กาฬแทรกไข้พิษ) 8 จำพวก
4. ไข้กาฬ 10 จำพวก
5. ฝีกาฬ (เกิดในพิษไข้) 10 จำพวก
6. ไข้กระโดง (ไข้กาฬ) 4 จำพวก
7. ฝีกาฬ 6 ชนิด
8. ไข้คตไข้แหงน 2 จำพวก
9. ไข้หวัด 2 จำพวก
10. ไข้กำเดา 2 จำพวก
11. ไข้ 3 ฤดู 3 จำพวก

รวม 77 จำพวก ซึ่งหากเทียบเคียงลักษณะอาการไข้ที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 มีลักษณะอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ซึ่งในคัมภีร์ตักศิลาระบุอาการว่า “อาการจับให้สะท้านร้อนสะท้านหนาว ปวดศีรษะ ให้ไอ จาม น้ำมูกตกมาก ตัวร้อน อาเจียน ปากแห้ง ปากเปรี้ยว ปากขม กินข้าวไม่ได้ แล้วแปรไปให้ไอมาก ทำพิษให้คอแห้ง ปากแห้ง ฟันแห้ง จมูกแห้ง น้ำมูกแห้ง บางทีกระทำให้น้ำมูกไหลหยดย้อย” ซึ่งในคำภีร์ได้ระบุวิธีการรักษาโดยบอกว่าให้แพทย์ใช้ยากระทุ้งพิษให้สิ้น ถ้ากระทุ้งพิษไม่หมด ก็จะกลับลงไป กินตับ กินปอด ให้ถ่ายออกมาเป็นโลหิตเสมหะ ทำพิษต่างๆ ถ้ารักษาดีก็มีโอกาสรอด รักษาไม่ดีก็ตาย ต้องให้ยากระทุ้งพิษชื่อ “แก้ว 5 ดวง (ยาห้าราก หรือเบญจโลกะวิเชียร) และยาอื่น ๆ ตามลำดับเพื่อทำการรักษาโรค
ยากระทุ้งพิษ “แก้ว 5 ดวง (ยาห้าราก หรือเบญจโลกะวิเชียร) ตำรับยาประกอบด้วย
1. รากชิงชี่
2. รากย่านาง
3. รากคนทา
4. รากท้าวยายม่อม
5. รากมะเดื่อชุมพร
ยาทั้งหมดนี้เอาสิ่งละเสมอภาค ต้มกินครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ ห่างกันประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อกระทุ้งพิษ
ไข้ ปัจจุบัน ยาแก้ว 5 ดวง (ยาห้าราก หรือเบญจโลกะวิเชียร) มีผู้ผลิตยาออกมาในรูปยาแคปซูล หรือยาตอกอัดเม็ด มีขายในท้องตลาด ซึ่งสะดวกในการซื้อหามาใช้แล้ว
ยาแปรไข้ ตำรับยาประกอบด้วย
1. ใบมะยม 7. ใบมะกรูด
2. ใบคนทีสอ 8. ใบมะเฟือง
3. ใบมะนาว 9. ใบมะตูม
4. ใบหมากผู้ 10 ใบหมากเมีย
5. หญ้าแพรก 11. หญ้าปากควาย
6. ขมิ้นอ้อย
ยาทั้งหมดนี้หนักสิ่งละเสมอภาค บดละลายน้ำซาวข้าว รับประทานแปรไข้จากร้ายกลายเป็นดี คำว่า
แปรไข้ หมายถึง วิธีรักษาโดยวางยาตามแบบแพทย์แผนโบราณ เพื่อบรรเทาโรคหนักให้เบาลง พูดให้เข้าใจง่ายก็คือเป็นการวางยาควบคุมอาการไข้ (ลดไข้) ให้ทุเลาลงไม่กำเริบขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ผลิตตำรับยาสมุนไพรที่ใช้ลดไข้ออกมาในรูปยาแคปซูล หรือยาตอกอัดเม็ดมีขายในท้องตลาด ชื่อ ยาจันทลีลา หรือยาประสะจันทน์แดง หรือยาเขียวหอม เพื่อใช้แปรไข้ (ลดไข้) ซึ่งสะดวกในการซื้อหามาใช้แล้วเช่นกัน
ยาครอบไข้ ตำรับยาประกอบด้วย
1. จันทน์แดง 8. จันทน์ขาว
2. ใบสวาด 9. หัวคล้า
3. ง้วนหมู 10. รากสะแก
4. รากจิงจ้อ 11. รากฟักข้าว
5. ใบผักหวานบ้าน 12. เถาย่านาง
6. ใบมะนาว 13. กฤษณา
7. กระลัมพัก 14. ขอนดอก

ยาทั้งหมดนี้หนักสิ่งละเสมอภาค บดแทรกพิมเสนพอสมควร ใช้น้ำซาวข้าวเป็นกระสาย รับประทาน
เป็นยารักษาภายในเป็นประจำจนกว่าจะหาย ซึ่งยาครอบไข้นี้ปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตเป็นตำรับยาออกมาในรูปยาแคปซูล หรือยาตอกอัดเม็ดวางขายในท้องตลาดที่จะหาซื้อได้ง่ายและพอเทียบเทียบเคียงที่จะเอามาใช้เป็นยาครอบไข้ที่ใช้สะดวก แต่ก็พอประยุกต์เอายาหอมทิพย์โอสถ หรือ ยาหอมเนาวโกฐ ที่มีขายในท้องตลาดมาใช้ร่วมกับยาห้ารากและยาประสะจันทน์แดง กินร่วมกันโดยลดปริมาณขนาดการกินยาห้ารากและยาประสะจันทน์แดงลงก็พอจะใช้เป็นยาครอบไข้ได้เช่นกัน

กรณีผู้ป่วยที่มีอาการไอ ถ้าอาการยังไอไม่มากให้ใช้ “ยาหนุมาณประสานกาย” กินบรรเทาอาการไอ แต่ถ้ามีอาการไอและหอบมากแล้ว ให้ใช้ยาตำรับในคัมภีร์ทิพย์มาลาที่ชื่อว่า “ยาแก้ฝีมะเร็งทรวง” ตัวยาประกอบด้วย
– ว่านกลีบแรด ว่านร่อนทอง รากไม้รวก จันทน์ทั้งสอง แก่นสน กรักขี ข่าตาแดง ยาข้าวเย็นทั้งสอง สิ่งละ ๒ ตำลึง รากชุมเห็ดไทย เถาวัลย์เปรียงแดง สิ่งละ ๕ ตำลึง สุราครึ่งหนึ่ง น้ำครึ่งหนึ่ง เป็นกระสายยาต้มกิน แก้ไอหอบ บำรุงปอด แก้ฝีมะเร็งทรวง

สำหรับประชาชนที่ยังไม่ป่วยและต้องการกินยาสมุนไพรเสริมภูมิต้านทานเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ก็มียาสมุนไพรหลายชนิดทั้งที่เป็นตำรับ และสมุนไพรเดี่ยวกินบำรุงร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงป้องกันโรคได้ เช่น ยาตรีผลา ยาเบญจผลธาต ยาปราบชมพูทวีป ยาบำรุงโลหิต ยาหอมเทพจิตร ยาหอมอินทจักร์ ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมเนาวโกฐ ยาฟ้าทะลายโจร เป็นต้น
กระบวนการรักษาและการใช้ยาตามหลักการแพทย์แผนไทยดังกล่าวยังมีอีกมากมาย ที่กล่าวมาเป็นเพียงยกตัวอย่างให้เข้าใจพอสังเขป ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาเชิงการแพทย์ของบรรพบุรุษไทยที่ได้ศึกษาเรียนรู้พัฒนาและถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นหลายชั่วอายุคน และบันทึกไว้เป็นคัมภีร์แพทย์ ซึ่งหากไม่ดีจริงเราคงไม่สามารถสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงทุกวันนี้ ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อยู่ในระดับรุนแรง และปัจจุบันยังไม่มียาสมัยใหม่รักษาได้ จึงขอฝากไปยังรัฐบาลหรือผู้รับผิดชอบว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะนำภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยดังกล่าวออกมาใช้ดูแลประชาชน ทั้งในเชิงป้องกันและในเชิงรักษาผู้ที่ติดเชื้อโดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการป่วยออกมา หรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงและถูกกักกันตัวอยู่ โดยบูรณาการกระบวนการรักษาร่วมกันกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เหมือนกับประเทศจีนที่เขาบูรณาการการแพทย์ทั้ง 2 แผนเข้าด้วยกัน ซึ่งไม่น่าเกิดผลเสียกับประชาชนแต่ประการใด แต่กลับจะเป็นผลดีมากกว่าเพราะได้มีช่องทางให้ประชาชนพึ่งพิงเพิ่มขึ้นมาอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งหากมีการบูรณาการการแพทย์ทั้ง 2 แผนเข้าด้วยกันแล้วได้ผลดีเชิงประจักษ์ ก็จะทำให้ประเทศชาติกลับคืนสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว
ด้วยความปรารถนาดีต่อประเทศชาติ

 

นายวัลลภ เผ่าพนัส
ประธานสมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา
8 เมษายน 2563…

468 ad