โรค+4+โรค
• 1. โรคอ้วน
ในปัจจุบันโรคอ้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น ไขมันในเส้นเลือด เบาหวาน ความดัน โรคตับแข็ง หัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาตและอื่น ๆ อีกมากมาย ประกอบกับโรคอ้วนยังทำให้บุคลิกภาพและความสวยงามสูญเสียไป และอาจจะมีผลต่อข้อเข่าและข้อเท้าที่ต้องทนแบกรับน้ำหนัก ดังนั้น เรามาทำความเข้าใจกับ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งพอสรุปได้ ดังนี้
1. การรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่สมดุล และไม่เป็นธรรมชาติ และที่สำคัญ คือ รับประทานมากจนเกินความจำเป็น เพราะปกติ ควร ทาน 1 มื้อ ต่อวัน ก็มีชีวิตรอดอยู่ได้ จากพระไตรปิฏก สำหรับมื้อที่ 2 เพื่อการทำงาน แต่มื้อที่ 3 เป็นมื้อเพื่อกามราคะ ซึ่งเกินความจำเป็น ฉะนั้น ท่านสามารถจะกำหนดการรับประทาน ว่าเมื่อรับประทานแล้วจะไม่อ้วน ซึ่งควรเป็นประเภท พืช ผัก ผลไม้สด ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล และเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย เช่น ปลา และไข่ สำหรับโปรตีนเนื้อสัตว์ใหญ่และไขมัน จะเป็นอาหารที่ย่อยยาก ซึ่งมีผลทำให้การย่อยอาหารลำบากและหมักเป็นแก๊ส ตลอดจนส่งผลให้มีการขับถ่ายยาก
2. การขับถ่ายที่ดี ที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วน ท่านต้องถ่ายทั้งธาตุดิน (อุจระ) ธาตุน้ำ (ปัสสาวะ) ธาตุลม (การผายลม) และธาตุไฟ (ความร้อนในร่างกาย) เพื่อให้เกิดความสมดุลและไม่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคอ้วน คนส่วนใหญ่ที่อ้วน เพราะมีแก๊สหรือลมเกิดขึ้นในตัวมาก และขับถ่ายลมไม่ดี จึงทำให้เกิดไขมันเหลวในเลือด เช่น คอเลสเตอรอล , ไตรกลีเซอไรด์ เป็นต้น และหากยังมีลมสะสมมากเพิ่มขึ้นก็จะมีการเปลี่ยนจากไขมันเหลวไปเป็นไขมันแข็งแทรกตามกล้ามเนื้อ, เนื้อเยื่อ, พังผืดทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พังผืดในช่องท้อง ซึ่งจะมีพังผืดเป็นจำนวนมาก จึงเกิดเป็นไขมันแข็งสะสมในช่องท้อง ทำให้อ้วนลงพุง ฉะนั้นถ้าเรากินอาหาร 3 มื้อต่อวัน ก็ควรจะมีการขับถ่ายอุจระ 3 ครั้งต่อวันเช่นกัน ถ้าทาน 2 มื้อ ก็ถ่ายอุจระ 2 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลและไม่เกิดแก๊สจากอุจระที่คั่งค้างในลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะมีผลทำให้เลือดข้นและมีสารพิษเจือปน
3. ส่วนใหญ่คนอ้วนหรือมีแนวโน้มที่จะอ้วน มักจะมีการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการเผาผลาญเกิดจากการ “สันดาป” ของออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ในร่างกายเพื่อทำให้เกิดพลังงานเป็นตัวทำให้เกิดพลังชีวิต จะสามารถทดสอบได้ โดยการหายใจไม่เต็มปอด แล้วกลั้นลมหายใจ ถ้าสามารถกลั้นได้ถึง 1 นาที จะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคอ้วน ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคอ้วน จะสามารถกลั้นลมหายใจได้เพียง 30 วินาที แต่ทั้งนี้เราสามารถจะฝึกการหายใจเพื่อเดินลมปราณให้ปอดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
4. ถ้าไม่ต้องการอ้วน หรือ เป็นโรคอ้วนแล้วจะรักษาและป้องกันไม่ให้กลับมาอีก ควรเน้นเรื่องอาหารที่รับประทานที่ไม่ทำให้เกิดลมและถ้าเมื่อเกิดลมหรือแก๊สแล้ว จะต้องกำจัดออกเพราะลมเป็นสาเหตุของโรคอ้วน ฉะนั้นการปรับสมดุลของธาตุลม พอสรุปได้ดังนี้
1. มีการนวดรักษาเดินตามเส้นประธานสิบ
2. มีการกินยาถ่ายธาตุลม
3. มีการอบความร้อนและสมุนไพร
4. มีการกินยาหอมปราบลม
5. มีการฝึกเดินลมปราณให้ไหลเวียนสะดวก
6. มีการออกกำลังกายในท่าที่เหมาะสม
7. กินอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน
• 2. โรคเกี่ยวกับการขับถ่ายอุจจาระ
ถ้ากินไม่ได้ นอนไม่หลับ ขับถ่ายไม่ดี จะเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าสุขภาพท่านกำลังเสียสมดุล และเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา เพราะโรคต่าง ๆ ที่ไม่มีการติดเชื้อ เช่น อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ขับถ่ายไม่ดี ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคความดัน ไขมัน เบาหวาน โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือแม้แต่โรคมะเร็ง เป็นต้น จะต้องใช้เวลาในการพัฒนาการเป็นโรค
5 – 10 ปี สำหรับมะเร็งอาจใช้เวลามากกว่า 10 ปี แต่ถ้าเราปรับให้เกิดความสมดุลของธาตุทั้ง 4 มี ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละคน หรือแม้แต่คนเดียวกันก็ยังแตกต่างกันไปตามอายุ ฤดูกาล แม้กระทั่งในแต่ละวัน เช้า สาย บ่าย เย็น ก็ยังมีความสมดุลของธาตุทั้ง 4 ก็แปรเปลี่ยนไป แต่ไม่ยากที่จะทำความเข้าใจ เพราะคนสุขภาพดี กินข้าวเปล่ายังรู้สึกว่าอร่อย นอนหลับดี ไม่มีฝันร้าย นอนไม่ตื่นกลางดึก และที่สำคัญมีการขับถ่ายอย่างสมบูรณ์ทั้งธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจเรื่องการขับถ่ายเฉพาะ อุจจาระ (ธาตุดิน) เท่านั้น
ปัจจุบันคนมักถ่ายอุจจาระวันละครั้ง ซึ่งยังไม่เพียงพอ เพราะไม่สมดุลกัน ถ้ากิน 1 มื้อ ควรถ่าย 1 ครั้ง ถ้ากิน2 มื้อ ควรถ่าย 2 ครั้ง ถ้ากิน 3 มื้อ ก็ควรถ่าย 3 ครั้ง ทุกวันนี้คนกินมากเกินไปและไม่กินอาหารตามธรรมชาติ อาหารส่วนใหญ่มักปรุงแต่งให้มีรสชาติอร่อย อาหารอร่อยมักไม่ค่อยมีประโยชน์ อาหารที่มีประโยชน์มักจะไม่อร่อย ดังสุภาษิตที่ว่า “กินน้อยตายยาก กินมากตายเร็ว” พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า การกินอาหาร 1 มื้อ ก็สามารถยังชีพได้ มื้อที่ 2 ก็เพื่อการงาน สำหรับมื้อที่ 3 เพื่อกามราคะ ฉะนั้นคนทานมื้อเดียวก็จะประหยัดทั้งเวลา และเงินทอง เป็นผลดีต่อสุขภาพ และที่สำคัญจะได้มีเวลาทำงานได้มาก ดังเช่นกลุ่มสันติอโศก เป็นต้น แต่สำหรับผู้สูงวัยที่ระบบการย่อยอาหารอ่อนกำลังลง โดยเฉพาะธาตุไฟที่ย่อยอาหาร ควรงดดื่มน้ำเย็น และไม่ควรดื่มน้ำมากหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ควรพักสักครึ่งถึง 1 ชั่วโมง จึงดื่มน้ำมาก ๆ ได้ ไม่ควรกินอาหารเนื้อสัตว์มาก ควรกินเฉพาะปลาจะดีมาก กินพืชผักผลไม้ของท้องถิ่นตามฤดูกาลที่ปลอดสารเคมี ก็จะทำให้มีสุขภาพดี และอย่าลืมกินอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนเพื่อเพิ่มธาตุไฟ เช่น พริกไท ขิง ดีปลี พริกไทย และใบกระเพรา เป็นต้น
สำหรับผู้สูงวัยควรทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ แต่ไม่ควรอิ่มมาก เลือกอาหารที่เหมาะจะช่วยให้การขับถ่ายดี โรคภัยไข้เจ็บก็จะไม่มี เพราะทุกวันนี้คนเป็นโรคมากเพราะกินมากแต่ขับถ่ายน้อย ที่สำคัญอย่าลืมขับถ่ายอารมณ์เสียโดยการนั่งสมาธิด้วย ก็จะทำให้ไม่เครียดและมีปัญญา สนุกกับการแก้ปัญหาในแต่ละวันโดยยึดหลัก “ปัญหาไม่มี บารมีไม่เกิด” เน้นการทดสอบปัญญาในการแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างมีความสุข
ที่กล่าวมาเหมือนเป็นเรื่องสกปรกไม่น่าพูด แต่มีความสำคัญต่อสุขภาพมาก คนที่เป็นพรรดึกมักจะถ่ายวันเว้นวัน หรือถ่ายวันเว้น 2 วัน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากอาหารที่กินเป็นเนื้อสัตว์มาก หรือทานยาบางชนิดที่ทำให้ท้องผูกได้เช่นกัน ไม่ชอบทานผักสด ผลไม้ และดื่มน้ำน้อย นอกจากนี้ความเครียดก็ทำให้การขับถ่ายทุกระบบไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านอนไม่สอดคล้องกับธรรมชาติวิถีของดวงอาทิตย์ วิถีชีวิตในการขับถ่ายก็จะมีปัญหาเช่นกัน ทำให้โอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ใหญ่ได้ง่าย เริ่มตั้งแต่ลำไส้อักเสบ เป็นแผลจน กระทั่งเป็นมะเร็ง ถ้ามีอาการท้องผูก 3 – 5 ปี จะเริ่มมีอาการเป็นริดสีดวงทวารหรือถ่ายเป็นเลือด และไม่เกิน 10 ปีจะมีสัญญาณมะเร็งลำไส้เกิดขึ้น ฉะนั้นควรปรับปรุงเรื่องอาหารและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อท้องผูก เช่น ความเครียด เป็นต้น สมุนไพรที่แนะนำให้กินเมื่อเวลาท้องผูก เช่น มะขาม มะเฟือง กระทกรก ตระกูลที่มีรสเปรี้ยวทั้งหลาย โดยเฉพาะมะขามป้อมและสมอไทย ถ้ารับประทานอย่างละ 5 ผล พร้อมกับเกลือจะช่วยในการขับถ่ายได้ดีมากเพราะผลไม้ทั้ง 2 ชนิด มักจะออกในช่วงปลายฝนต้นหนาว ถ้ากินเป็นประจำทุกปีจะช่วยปรับระบบขับถ่ายได้เป็นอย่างดี
การขับถ่ายเป็นตัวชี้สำคัญ ที่จะบ่งบอกถึงความมีสุขภาพดีหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับถ่ายของเสียในมนุษย์จะมีทั้ง 4 ธาตุ ดังนี้
ธาตุดิน ขับโดย อุจจาระเป็นส่วนใหญ่ ยังมีผิวหนัง ขน ผม และเล็บ
ธาตุน้ำ ขับโดย ปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ ยังมีฤดู (สำหรับสตรี) เหงื่อ น้ำมูก น้ำลาย เสลด ฯลฯ
ธาตุลม ขับโดย การผายลม การเรอ และออกตามรูขุมขน โดยเฉพาะปลายมือ ปลายเท้า และทวาร ทั้ง 9 ในผู้ชาย 10 ทวารในผู้หญิง
ธาตุไฟ ขับโดย ทางผิวหนังผ่านทางเหงื่อ ลมหายใจ อุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น
แต่คนส่วนใหญ่พูดถึงการขับของเสียออกจากร่างกายมักคิดถึงเรื่องอุจจาระเป็นหลัก เพราะเป็นเหตุสำคัญที่จะดูว่าบุคคลนั้นมีสุขภาพดีหรือไม่ ทางการแพทย์แผนไทยแบ่งอุจจาระเป็น 3 ประเภท คือ
ก. ธาตุหนัก หมายถึง ผู้มีอุจจาระแข็งเป็นก้อนเหมือนขี้แพะ ภาษาโบราณเรียกว่าเป็นพรรดึก เวลาถ่ายในโถส้วมจะจมดิ่งลงในน้ำ แล้วไม่ลอยขึ้นมาเลย
ข. ธาตุเบา ลักษณะอุจจาระจะเป็นก้อนหลวมๆ หรือเหลว เวลาถ่ายจะลอยเป็นแพบนผิวน้ำในโถส้วม
ค. ธาตุปานกลาง จะมีลักษณะกึ่งกลางระหว่างธาตุหนักและธาตุเบาเป็นก้อนไม่แน่นมาก เวลาถ่ายตอนแรก จะจมดิ่ง จากนั้นจะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำในโถส้วม
สำหรับท่านที่สนใจขับถ่ายวันละ 3 ครั้งเมื่อกินอาหาร 3 มื้อ ควรปฏิบัติดังนี้
ตื่นนอนตอนเช้าควรทำธุระส่วนตัวเป็นครั้งที่ 1 ให้เรียบร้อย แล้วนวดท้องด้วยผ้าขนหนูที่ม้วนเป็นก้อนแข็งด้วยการนอนทับคลึง 3 – 5 นาที อาทิตย์ละ 3 – 5 ครั้ง จากนั้นดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำเปล่าอุณหภูมิห้องก่อนแปรงฟัน 3 – 4 แก้ว (ยกเว้นคนเป็นโรคไต) เพื่อทำให้เชื้อแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสในช่องปากลงไปช่วยในการขับถ่าย จากนั้นก็ยืดเส้นยืดสายด้วยฤาษีดัดตน หรือโยคะ ก่อนออกกำลังกายที่ท่านชอบไม่ว่าจะเป็นจ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรือกีฬาอะไรก็ได้ที่สะดวก เพื่อกระตุ้นให้เลือดลมไหลเวียนดี และมีการเคลื่อนไหวของอวัยวะทุกส่วน เน้นการช่วยปรับ ธาตุลม
มาถึงช่วงนี้ก็จะขับถ่ายอุจจาระเป็นครั้งที่ 2 สำหรับอาหารมื้อเช้าถ้าเป็นกล้วยน้ำหว้าสุกสัก 2 ลูก แถมด้วยส้ม 1 ผลก็ได้ แล้วตามด้วยอาหารสุขภาพที่ท่านจัดหาตามธรรมชาติ สำหรับมื้อกลางวันและเย็นทุกมื้อควรมีผลไม้ไทยตามฤดูกาลหรือสลัดผักก่อนอาหาร ก็จะเป็นการดี และที่สำคัญควรกินน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้วขึ้นไป (2 ถึง 3 ลิตร)
ครั้งที่ 3 จะขับถ่ายหลังอาหารมื้อเย็นหรือก่อนนอน รับรองว่าท่านจะอยู่ได้ถึงอายุ 90 ปี แบบมีความสุข ดังสุภาษิตที่ว่า “อโรคยา ปรมา อาภา ความไม่มีโรคเป็นเป็นลาภอันประเสริฐ” ทั้งหมดนี้เน้นความสำคัญของการขับถ่าย ที่ไม่อาจมองข้ามสำหรับท่านที่ต้องการมีสุขภาพดี
• 3. โรคเกี่ยวกับน้ำในหูไม่เท่ากัน
แพทย์แผนปัจจุบันวินิจฉัยว่าเกี่ยวข้องกับเส้นประสาทหูชั้นในอักเสบเฉียบพลันแต่แพทย์แผนไทย อธิบายว่า เกิดจากธาตุลมพิการ และลมขยายตัวดันน้ำในหูชั้นในให้เสียสมดุลจนเกิดน้ำในหูไม่เท่ากัน เรียกว่าน้ำในหูไม่เท่ากัน และเกิดอาการทรงตัวไม่อยู่ มึนศีรษะ ตามองเห็นภาพเลือนเป็นฉากเหมือนแผ่นฟิล์ม และเริ่มหมุน จึงเรียกว่าโรคบ้านหมุน ซึ่งชื่อเรียกทั้ง 2 โรคก็คือเวอร์ทิโก้นั่นเอง โดยมักเกิดบ่อยกับท่านที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
โดยสรุปแล้วโรคนี้มักเป็นเพราะเลือดลมหมุนเวียนไม่ดี มีการติดขัดหรืออุดตัน จึงทำให้เกิดความดันที่แตกต่างกันในช่องหู ดั้งนั้นการป้องกันที่ดีจึงต้องมีการกำจัดลมให้เกิดความสมดุลทุกวัน ซึ่งมีอยู่หลายวิธี หากรักษาตามแนวทางแพทย์แผนไทย แพทย์ที่เชี่ยวชาญนวดเพียง 1-2 ครั้งก็หายเป็นปกติแต่ต้องเลือกแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข เช่น คลินิกแพทย์แผนไทย ไม่แนะนำให้ไปนวดตามร้านนวดทั่วไป ขณะเดียวกันก็ต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสมด้วยจึงจะไม่กลับมาเป็นซ้ำ อย่างไรก็ตาม ปลอดภัยไว้ก่อน ลองตรวจสอบตัวเองเบื้องต้นตามแพทย์แผนไทย และแผนปัจจุบัน
How To ตรวจสอบตัวเองตามแนวทางแพทย์แผนไทย
1. ยืนตรง เท้าชิดกัน ชูมือทั้งสองเหนือศีรษะ เหยียดตรง แล้วค่อยๆ ก้มลงดูว่าฝ่ามือติดพื้นหรือไม่
2. เหยียดแขนทั้งสองตรงไปข้างหน้าให้ตั้งฉากกับลำตัว แล้วยกแขนขวาไขว้อยู่เหนือแขนซ้าย จากนั้นพลิกฝ่ามือทั้งสองลง ให้หันประสานกัน จับให้แน่น แล้วม้วนแขนทั้งสองลงเข้าลำตัวก่อนจะหมุนออก เหยียดตรงหากทำไม่ได้ แสดงว่าเริ่มมีปัญหาข้อไหล่ หรือข้อศอก ตลอดจนข้อมือติดเพราะกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หรือพังผืดยึด
3. ทำเช่นเดิม โดยสลับมือซ้ายขึ้นข้างบนมือขวา แล้วตรวจสอบดูว่าทั้งสองครั้ง เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
นี่เป็นวิธีตรวจสอบเลือดลมในร่างกายของเราว่าหมุนเวียนดีหรือไม่ หากรู้สึกติดขัด แสดงว่าเริ่มมีปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจาดเลือดลมเกิดติดขัดคั่งค้าง โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ กรามศีรษะ และช่องหู เช่นเมื่อติดขัดที่ช่องหูก็ทำให้เกิดโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน หรือโรคบ้านหมุนนั่นเอง
How To ตรวจสอบตัวเองตามแนวทางแพทย์แผนปัจจุบัน
จะทราบได้อย่างไรว่าเราเข้าข่ายเป็นโรคเวอร์ทิโก้ ลองสังเกตว่า สามารถทรงตัวได้ไหม หรือเมื่อมองไปที่เพดาน หรือผนัง รู้สึกวัตถุเหล่านี้เคลื่อนที่คล้ายกับหมุนได้หรือไม่ โดยอวัยวะที่ควบคุมการทรงตัวคือหูชั้นในและระบบประสาทส่วนกลาง แนะนำให้นอนพักจนกว่าอาการจะหายไป หากไม่หายควรพบแพทย์ และบริหารร่างกายด้วยท่าง่ายๆ เพื่อให้สมองปรับตัวอย่างเป็นธรรมชาติ
– นั่งลงข้างเตียงแล้วล้มตัวด้านข้างจนหูแนบที่นอน หากพบอาการบ้านหมุนให้นอนท่านั้นค้างไว้จนกว่าอาการจะดีขึ้น
– ลุกขึ้นแล้วทำแบบเดียวกันกับอีกข้างหนึ่ง
– ทำสลับกัน 5-10 ครั้ง ทุกวัน เช้า-เย็น หรือระหว่างวันเมื่อรู้สึกอาการบ้านหมุนขึ้น ให้นอนพักศีรษะนิ่งๆ นานที่สุด เพราะการขยับศีรษะจะทำให้อาการรุนแรงขึ้น
• 4. โรคลม
ท่านทราบหรือไม่ว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ต่อมลูกหมากโต มดลูกเคลื่อน โรคเกาต์ ต่อมลูกหมากโต มดลูกเคลื่อน โรคตับไต หัวใจ ปอด นิ่ว ไปจนถึงโรคปวดเมื่อกล้ามเนื้อ เอ็นยึด พังผืดติดข้อต่อเคลื่อนไหวลำบาก ฯลฯ ตามแนวทางแพทย์แผนไทยแล้ว วินิจฉัยได้ว่าเกิดขึ้นเพราะ “ลม” แทรกอยู่ตามเส้นเลือด ดังนั้น เราจึงต้องมีวิธีขับ “ลม” กันหน่อย
เมื่อ “ลม” แทรกเข้าไปอยู่ตามเส้นเลือด หรืออวัยวะส่วนใด จะทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะส่วนนั้นไม่สะดวก จนอวัยวะนั้น ๆ เกิดความเสื่อมและทำงานผิดปกติ เช่น ลมแทรกเข้าไปตามข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย ก็ทำให้กระดูกเสื่อม หรือแทรกเข้าไปตามกระดูกสันหลัง ก็ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อม หรือถ้าลมแทรกเข้าไปในหัวใจ ก็ทำให้เป็นโรคหัวใจได้
วิธีดูแลตัวเองง่าย ๆ เบื้องต้น
สามารถแก้ไขได้ด้วยการนวด ซึ่งมี 5 แบบด้วยกัน คือ
1. นวดปลายประสาท
2. นวดกล้ามเนื้อที่ปวดเมื่อยล้า
3. นวดเส้นเอ็นที่แข็งกระด้าง (โดยเฉพาะเส้นเอ็นร้อยหวาย)
4.นวดพังผืดที่ยึดติดระหว่างกล้ามเนื้อแต่ละมัดและ
5. นวดข้อพับเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวได้สะดวก
โดยมากแล้วสำหรับท่าน 55+ มักมีปัญหาที่เส้นเอ็นและข้อต่อจากการที่ใช้งานมาก จนทำให้เกิดฟองอากาศและเลือดไหลเวียนไม่สะดวก หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพก็เหมือน การรดน้ำต้นไม้ด้วยสายยาง หากท่อแตก ฟองอากาศจะแทรกเข้ามา ทำให้น้ำจากสายยางไหลไม่แรง ร่างกายของเราก็เหมือนกัน เมื่อเลือดสูบฉีดไม่ดี จึงทำให้เซลล์เนื้อเยื่อบริเวณนั้นเสื่อมสภาพ มีหินปูนเกาะ จนเส้นเอ็นและข้อต่อแข็งกระด้าง ทำให้เคลื่อนไหวลำบากในที่สุด ซึ่งการแก้ปัญหาด้วยการนวดสามารถบรรเทาได้ในระดับหนึ่ง
การนวด บีบ คลึง และทุบกล้ามเนื้อบริเวณที่รู้สึกตึง ๆ เช่น แขน ขา คอ ไหล่ หรือบ่าสามารถทำได้ เพื่อช่วยให้เลือดลมหมุนเวียนดี และรู้สึกสบายเนื้อตัวขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้เซลล์เนื้อเยื่ออวัยวะทุกส่วนได้ฟื้นฟู ไม่แข็งกระด้าง และไม่เสื่อมสภาพ จนทำให้เกิดโรคต่าง ๆ อย่างไรก็ตามต้องรวมเข้ากับการดูแลตัวเองด้วยการรับประทานอาหารดี ได้รับอากาศดี น้ำดี โดยปราศจากสารเคมีและสารพิษต่าง ๆ ด้วย
หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
“ลม” ในร่างกายเกิดได้จากหลายสาเหตุ และจากพฤติกรรมไม่เหมาะสม ซึ่งต่างกันไปในแต่ละท่าน ขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยสัก 6 กรณี แล้วท่านลองสังเกตท่านเองว่า เคยเกิดขึ้นกับท่านบ้างไหมที่ทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่สบายเนื้อสบายตัว หากพบว่าใช่ก็ควรหลีกเลี่ยงเสีย
• รับประทานอาหารผิดสำแดง หรือรับประทานของแสลงยกตัวอย่าง ตัวผมเองเคยรับประทานกล้วยน้ำว้าเป็นอาหารมื้อเช้า 2 ผล ทุกวัน มีวันหนึ่งกล้วยน้ำว้าหมด เห็นมะม่วงสุกจึงรับเข้าไป ปรากฏว่ามีอาการลมจุกเสียดแน่นหน้าอกหายใจไม่สะดวก เหนื่อยหอบ แต่ยังมีสติดีอยู่ จึงนอนหงายราบกับพื้น แล้วหายใจเข้า –ออกลึก ๆ ประมาณ 3-5 นาทีอาการจึงดีขึ้น หากท่านใดเกิดอาการเช่นนี้ อาจใช้ยาหอมรับประทานกับน้ำอุ่นจะช่วยได้เป็นอย่างดี
• รับประทานอาหารมากเกินไป หรือหลังกินอาหารรับประทานน้ำมากไป ก็ทำให้ธาตุไฟสำหรับย่อยอาหารเกิดพิการ อาหารไม่ย่อยเพราะน้ำย่อยเจือจาง จึงทำให้เกิดการหมักของอาหารแล้วเกิดเป็นแก๊ส (ลม) ซึ่งคนโบราณเรียนกว่า ท้องอืด ท้องเฟ้อเรอเหม็นเปรี้ยว ปัจจุบันเรียกว่า “กรดไหลย้อน”
• กรณีหิวมากจนเกินไป แล้วรับประทานอาหารหรือน้ำเร็วเนื่องจากหิวหรือกระหาย ก็ทำให้เกิดลมได้
• อารมณ์เครียด ฉุนเฉียว โกรธ หรือมีโทสะ ก็ทำให้เกิดลมได้เช่นกัน โดยลมนี้จะทำให้เกิดความดันสูงถึงกับเส้นเลือดสมอง แตกได้
• อากาศแปรปรวน กระทบร้อนกระทบเย็น เพราะปกติอากาศที่เคลื่อนไหวเราเรียก“ลม” ถ้าอุณหภูมิร้อนอากาศจุขยายตัวแต่ถ้าอุณหภูมิเย็นอากาศจะหดตัว เมื่อมีอุณหภูมิแตกต่างกันจะมีการไหลเวียนอากาศ จากร้อนไปสู่เย็นทำให้เกิดลมในร่างกายแปรปรวน เพราะปรับตัวไม่ทัน
• กรณีขึ้นเครื่องบิน ความดันข้างนอกและในร่างกายไม่สมดุลกัน ทำให้เกิดลมออกหู หรือหูอื้อ
หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเกิด “ลม”
• รับประทานอาหารรสเผ็ดร้อน ได้แก่ ขิง พริก พริกไทย ดีปลี ใบกะเพรา กระเทียม กระชาย เป็นต้น
• การออกกำลังกายให้เหมาะสม (รวมถึงการเดินจงกรม)
• ฝึกลมปราณ โดยหายใจเข้าลึก ๆ แล้วเบ่งลมลงช่องท้อง กลั้นไว้ 3 -5 วินาที แล้วหายใจออกแรง ๆ
• การอบสมุนไพร หรือการอบความร้อน (อบเซาน่า) ตลอดจนการแช่น้ำร้อน
• รับประทานยาหอมเพื่อขับลม ซึ่งยาหอมมีหลายตำรับ ควรปรึกษาการใช้ยาจากผู้รู้
• การนวด
“ขับลม” ผ่อนคลายหลังและกำจัด “คอเลสเตอรอล”
วิธีผ่อนคลายนี้ได้ผลสำหรับท่านที่มีปัญหาที่หลัง ซึ่งช่วยให้ผ่อนคลายลงได้ด้วยการเอนหลังลงบนโต๊ะ หรือถ้าอยู่บ้านอาจนั่งคุกเข่าและเอนหลังลงบนหมอนสามเหลี่ยม หากท่านอ้วนด้วย ก็นวดท้องไปพลาง ๆ เพราะลมส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ท้อง อันมีสาเหตุจากลมในร่างกาย ถ้าลมมีมาก โดยไม่กำจัดออกไปจะแปรสภาพเป็นไขมันเหลว เรียกว่า “คอเลสเตอรอล” ท่านใดไม่อยากอ้วน ควรกำจัดลมด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้
• นำผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ม้วนเป็นก้อนกลมคล้ายลูกบอล วางบนพื้นราบที่แข็ง
• นอนคว่ำลงให้สะดืออยู่บนศูนย์กลางผ้าขนหนู แล้วขยับตัวไปมา โดยให้น้ำหนักตัวเป็นแรงกด 3 -5 นาที แนะนำให้ทำช่วงเช้า หลังจากขับถ่ายเรียบร้อยแล้ว หรือขณะท้องว่าง ทำเป็นประจำสัปดาห์ละ 2- 3 ครั้ง เพื่อกำจัดลมที่คั่งค้าง นอกจากนี้ยังไม่ทำให้เกิดโรคลมแทรกเข้าไปตามเส้นเลือด กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น รวมทั้งหัวใจซึ่งทำให้เกิดไขมันไปเกาะติดได้ในอนาคต
นายสมบัติ ไตรศรีศิลป์
แพทย์แผนไทยเวชกรรมและเภสัชกรรม
ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาปัญญาไท