Pages Navigation Menu

สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา

โรคปวดเมื่อยรักษาได้ด้วยสมุนไพร

โรคปวดเมื่อยรักษาได้ด้วยสมุนไพร

ในอันดับแรก เพื่อให้เข้าใจมูลเหตุของการเกิดโรคปวดเมื่อยจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับ ธาตุทั้ง 4 อันได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งประกอบกันในร่างกายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ธาตุทั้ง 4 นี้มีภาวะสมดุลและเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน เมื่อใดที่ธาตุหนึ่งธาตุใดเสียสมดุล ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น การเสียสมดุลของธาตุลม เป็นเหตุให้เกิดอาการปวดเมื่อย จึงจะขอกล่าวถึงรายละเอียดเฉพาะธาตุลมซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการปวดเมื่อย
ธาตุลม เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้แต่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย ทำหน้าที่หลาย ประการ คือเป็นลมที่พัดจากปลายเท้าขึ้นไปยังศีรษะ เป็นลมพัดจากศีรษะลงไปที่ปลายเท้า

เป็นลมพัดในลำไส้ และกระเพาะอาหาร เป็นลมพัดในช่องท้อง เป็นลมหายใจเข้าออก เป็นลมที่พัดทั่วกาย หากเปรียบเทียบกับแพทย์แผนปัจจุบัน ธาตุลม คือสิ่งที่ควบคุมการเคลื่อนไหวทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการหายใจ การยืดหดของกล้ามเนื้อ การบีบตัว การสูบฉีดเลือดของหัวใจ การไหลเวียนเลือดหรือ การเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร การเคลื่อนไหวของเซลล์ หรือกระแสสัญญาณของระบบประสาท

อาการปวดเมื่อย เกิดขึ้นได้หลายตำแหน่งในร่างกาย แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

  1. ตั้งแต่บริเวณเอวลงไป มีอาการ ปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดขา ปวดเข่า ปวดน่อง น่องตึง เจ็บฝ่าเท้า บางครั้งมีอาการชาร่วมด้วย
  2. ตั้งแต่บริเวณเอวขึ้นไป มีอาการ ปวดต้นคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ปวดสะบัก ปวดแขนไหล่ติด บางครั้งมีอาการชา และปวดศีรษะร่วมด้วย รวมถึงอาการนิ้วล็อค และปวดเมื่อยทั่วร่างกาย

ในทางทฤษฏีการแพทย์แผนไทยได้อธิบายสาเหตุของอาการปวดเมื่อยไว้ว่า เกิดจากอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม การนั่งนานเกินไปและนั่งในท่าที่ไม่ถูกต้อง การเดิน และยืนนานๆ ส่วนใหญ่แล้วอาชีพและสภาพสังคมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อโรคปวดเมื่อย ทำให้บ่อยครั้งเราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น อาชีพขับรถเมล์ ขับรถแท็กซี่ สภาพการจราจรที่ติดขัดทำให้ต้องนั่งอยู่ในรถเป็นเวลานานๆ อาชีพพนักงานออฟฟิศซึ่งต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันนานๆและไม่ค่อยได้พัก ทำให้นิ้ว คอ และดวงตา ต้องทำงานหนัก หรืออาชีพกรรมกรที่ต้องแบกสินค้าตลอดทั้งวัน โดยบางครั้งก็ต้องทำงานล่วงเวลา คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมก็เช่นเดียวกันมีเพียงสองอิริยาบถในการทำงาน คือ นั่งหรือยืนตลอดเวลา

อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคปวดเมื่อยคือ วัย คนที่อายุ 32 ปีขึ้นไป จะเข้าสู่ช่วงวัยที่ธาตุลมหย่อน หรือกำลังลมในร่างกายลดลงกว่าปกติ ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมชาติที่ไม่มีผู้ใดหลีกเลี่ยงได้ เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยดังกล่าว ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อจะลดลง ความคล่องแคล้วในการเคลื่อนไหวร่างกายก็จะลดลงเช่นกัน จึงควรยอมรับและทำเข้าใจสภาพร่างกายของเราเองในวัยนี้ เพื่อจะได้เรียนรู้วิธีจัดการกับปัญหาเหล่านี้และมีชีวิตที่ปกติสุข

นอกจากนี้การประสบอุบัติเหตุ หรือมีสิ่งภายนอกมากระทบร่างกาย เช่น ผลัดตกหกล้ม ถูกชน ถูกกระแทก ถูกทุบตี ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอาการปวดหรือบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นได้เช่นกัน มีระดับความรุนแรงจากน้อยไปหามาก จนถึงขั้นพิการ

ส่วนการดูแลรักษาอาการปวดเมื่อยในผู้ที่มีอิริยาบถไม่เหมาะสม เนื่องจากการ นั่ง ยืน เดิน นานเกินไป ทำให้อวัยวะและกล้ามเนื้อนั้นๆทำงานหนัก เกิดของเสียหรือพิษสะสมในเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ เป็นเหตุให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อตึงตัว ขาดการยืดหยุ่น การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก จึงมีอาการปวดเมื่อย เคลื่อนไหวร่างกายได้ช้า เพราะธาตุลมหย่อน วิธีแก้ไข จึงควรขับพิษออกจากเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ และเพิ่มกำลังของธาตุลมเพื่อให้เลือดหมุนเวียนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อได้ดียิ่งขึ้น ทำได้โดยกินยาสมุนไพร นวด อบ ประคบ กัวซา หรือการขูดเพื่อขับพิษออก ฝังเข็ม ทำกายบริหารฤาษีดัดตน จะเลือกวิธีการใดก็ได้ขึ้นอยู่กับอาการหนักเบาของโรค และดุลยพินิจของแพทย์แผนไทย เมื่อพิษถูกขับออก เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นกลับสู่ภาวะสมดุล อาการปวดเมื่อยก็จะหายไป
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าผู้มีอายุมากกว่า 32 ปีขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่ธาตุลมหย่อน กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นก็หย่อนประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถบรรเทาหรือชะลออาการได้โดยปรับสมดุลใหม่ด้วยอาหาร ชาสมุนไพร และยาสมุนไพร(ซึ่งควรกินตามคำแนะนำของแพทย์แผนไทย) และการทำกายบริหารฤาษีดัดตน

ทั้งนี้ อาหารที่เหมาะสำหรับคนในช่วงวัยนี้ คือ อาหารรสเผ็ดร้อน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องกินพริกเผ็ดๆ เสมอไป อาหารรสเผ็ดร้อนยังรวมถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของ ข่า ขิง กระชาย ตะไคร้ ใบมะกรูด กระเพรา โหระพา ใบแมงลัก ขมิ้น พริกไทย เป็นต้น ชาสมุนไพรก็ควรเลือกชนิดที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น น้ำขิง จะช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร น้ำเหง้าตะไคร้ ช่วยขับลมในเส้นเอ็น แก้ปวดเมื่อย น้ำกระชาย ช่วยบำรุงร่างกาย เป็นต้น ส่วนยาสมุนไพรควรใช้กรณีที่มีอาการปวดมากจนอาหารและชาสมุนไพรใช้ไม่ได้ผล ยาสมุนไพรมีมากมายหลายตำรับ ตั้งแต่ยาที่มีฤทธิ์อ่อนจนถึงฤทธิ์แรง จึงควรปรึกษาแพทย์แผนไทยเพื่อใช้ให้เหมาะกับอาการหนักเบาของโรค

ส่วนกรณีของผู้ประสบอุบัติเหตุ เมื่อถูกแรงกระแทกจากภายนอกทำให้เกิดฟกช้ำในกล้ามเนื้อและมีลิ่มเลือดในเส้นเลือดหรือช้ำใน ขั้นแรกต้องขับล้างลิ่มเลือดออก โดยดื่มน้ำสมุนไพรแก้ช้ำใน คือ บัวบก หรือใบหนุมาณประสานกาย จากนั้นควรใช้ยาขับพิษและยาบำรุงเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ

ผู้เขียน พท. สุนทรี พีรกุล สาขาเวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย

468 ad