Pages Navigation Menu

สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา

เล่าประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองตัน

ในช่วงเวลาปีเศษที่ผ่านมา  ดิฉันมีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ จึงมีความตั้งใจที่จะเขียนบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้มาตลอดช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อเป็นเครื่องเตือนความทรงจำตนเองและคิดว่าอาจเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจบ้างไม่มากก็น้อย  จึงจะขอสมมุติชื่อผู้ป่วยว่าคุณโชคดี  เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อคุณโชคดีเกิดอาการ แขน ขาอ่อนแรง  ปากเบี้ยว  ลิ้นกระด้าง  คางแข็ง  ต้องรีบพาส่งโรงพยาบาลโดยด่วน คุณหมอวินิจฉัยว่าเกิดจากเส้นเลือดในสมองอุดตัน  ทำการรักษาโดยฉีดยาละลายลิ่มเลือด  สามารถละลายลิ่มเลือดได้บางส่วน  คงเหลือเส้นเลือดเพียงบางส่วนที่ยังอุดตัน  ดิฉันได้ถามคุณหมอว่า ฉีดยาซ้ำอีกได้หรือไม่ และ จะเกิดอะไรขึ้นหากปล่อยทิ้งไว้ คุณหมอตอบว่า เซลล์สมองส่วนที่ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงจะตาย  สมองจะบวม   ต้องรอให้ร่างกายขับน้ำออกเอง ซึ่งต้องใช้เวลา  ส่วนยาสามารถฉีดได้ครั้งเดียวเท่านั้น

หลังจากผ่านไป 5-7 วัน เมื่อสมองไม่บวมลดลงแล้ว ก็ถึงเวลาสำรวจความพิการ โชคดีที่คุณหมอแนะนำให้รักษาโดยการฝังเข็มเพื่อลดอาการสมองบวมและหยุดการตายของเซลล์สมอง    หลังจากที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ  ได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก  ไม่มีอาการสมองบวม  เซลล์สมองไม่ตายเพิ่ม  ผลดีที่เห็นได้ชัดเจนคือ  ปากที่เบี้ยวและพูดไม่ชัดค่อยๆ ดีขึ้น พูดได้ชัดขึ้น  แต่คุณโชคดียังมีปัญหาขยับเขยื้อนร่างกายซีกซ้ายไม่ได้  แขน ขา อ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ เส้นเอ็นหย่อน   เพราะเซลล์สมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกซ้ายถูกทำลาย ทั้งยังกินอาหารแบบปกติไม่ได้ ต้องให้อาหารทางสายยาง

เมื่อคุณโชคดีผ่านพ้นภาวะวิกฤติไปได้แล้ว ก็มาถึงการฟื้นฟูสภาวะพิการ   สิ่งแรกที่ต้องทำคือญาติของคุณโชคดีต้องยอมรับสภาวะของผู้ป่วยและคอยให้กำลังใจเพื่อฟื้นฟูความพิการโดยการกายภาพบำบัดระบบประสาท ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน   คุณหมอได้อธิบายว่า เซลล์สมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของร่างกายซีกซ้ายได้ถูกทำลาย ทำให้ความสามารถในการสั่งการร่างกายซีกซ้ายหายไปด้วย การกายภาพบำบัดจะช่วยสร้างคำสั่งใหม่ให้กับสมอง โดยในช่วงเวลา 3 เดือนแรกจะเป็นช่วงเวลาที่สมองสร้างคำสั่งใหม่ได้ดีที่สุด  หลังจากนั้น ความสามารถในการสร้างคำสั่งของสมองจะลดลงเรื่อยๆ จนเมื่อครบ 6 เดือน การสร้างคำสั่งของสมองจะทำได้น้อย ดังนั้น นาทีทองในการสร้างคำสั่งใหม่ของสมองมีเพียง 6  เดือนแรกเท่านั้น

ในช่วงนี้ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูได้แนะนำให้ทำกายภาพบำบัดโดย แบ่งเป็น  2  ส่วน  คือ การกายภาพกล้ามเนื้อมัดใหญ่  ได้แก่ การฝึกนั่ง  ฝึกลุกจากเตียงโดยไม่ต้องมีคนคอยช่วย  ฝึกลุกยืน และ เดิน  ส่วนที่สอง คือ การกายภาพกล้ามเนื้อมัดเล็ก  ได้แก่ การฝึกกลืนอาหาร   ฝึกการใช้ทักษะของมือ โดยการยกแขน  การหยิบจับสิ่งของ  การใส่เสื้อผ้า   ควบคู่กับการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา แขนและหน้าท้อง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการยืนและเดิน กล้ามเนื้อที่ลีบก็จะแข็งแรงขึ้น มีมัดกล้ามเนื้อ  ไม่ลีบ  เมื่อกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นจึงเริ่มฝึกยืน และเดิน

ในช่วงแรกที่เส้นเอ็นหย่อน กล้ามเนื้อจะลีบ ไหล่จะหลุดออกจากเบ้า ต้องใช้อุปกรณ์ประคองไหล่ป้องกันไม่ให้ไหล่หลุด   ถ้ากระดูกหัวไหล่หลุดจากเบ้าจะฟื้นฟูการทำงานของแขนกลับคืนมาได้ยาก  การรักษาหัวไหล่หลุดต้องสร้างกล้ามเนื้อไหล่และแขนส่วนบนให้แข็งแรง  จึงจะไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยประคอง  สิ่งที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือข้อเท้าจะตก ไม่สามารถกระดกข้อเท้าได้  ในช่วงแรกจึงต้องใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงข้อเท้าด้วย

การรักษาโดยการสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง การกายภาพเพื่อสร้างคำสั่งใหม่ให้สมองต้องทำซ้ำๆบ่อยๆเป็นพันๆ ครั้งจึงจะได้ผล   ดังนั้น ต้องอาศัยความเพียรพยายาม และความอดทนของผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลเป็นอย่างมาก

อีกปัญหาสำคัญที่ต้องประคับประคองให้ผ่านไปให้ได้ คือ  ในช่วงแรกเส้นเอ็นจะหย่อนจากนั้นเส้นเอ็นจะเกร็งและหดตัว แต่สภาพกล้ามเนื้อยังอ่อนแรง ไม่สามารถต้านทานการหดเกร็งของเส้นเอ็นได้ ทำให้เส้นเอ็นหดตัวมากเกินไป จนนิ้วมือหงิกงอ  เหยีอดตรงไม่ได้ ฝ่าเท้าตก  กระดกขึ้นไม่ได้ ซึ่งเกิดจากเส้นเอ็นที่น่องหดรั้ง  ในช่วงนี้ต้องเน้นทำกายภาพสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ  และดัดยืดเส้นเอ็น เพื่อสามารถต้านทานการหดเกร็งของเส้นเอ็น เมื่อกำลังของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นสมดุล  อาการนิ้วหงิกงอก็หมดไป คุณโชคดีผ่านภาวะนี้ไปได้อย่างดี ไม่มีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น  กล้ามเนื้อที่เคยลีบก็กลับแข็งแรงดี  ไหล่ไม่หลุด ไม่ต้องใช้อุปกรณ์พยุงไหล่และข้อเท้า  และสามารถกินอาหารได้เอง

ในระหว่างที่คุณโชคดีรับการรักษาโดยการฝังเข็ม  คุณหมอได้ให้กินยาสมุนไพรจีนนาน  3  เดือน  ควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน  เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ  หลังจากหยุดยาจีนได้กินยาสมุนไพรไทยต่อ  คุณโชคดีเป็นโรคความดันสูง  เบาหวาน  หัวใจโตทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ  จึงให้กินยาสมุนไพรไทย ได้แก่ ยาในกลุ่มบำรุงเส้นเอ็น แก้เส้นเอ็นตึง ทำให้เลือดไหลเวียนดี หลังจากที่กินยาแล้ว แขน ขาที่เคยเย็นก็อุ่นขึ้น นอกจากนี้ ยังใช้การนวดไทยร่วมกับการแช่เท้าด้วยสมุนไพรวันละ 1 -2 เพื่อลดอาการเท้าบวมและช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ อาหารยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเน้นโปรตีนจากไข่ขาว  คุณโชคดีจึงต้องกินไข่ขาววันละ 8 ฟอง  มื้อเช้า  4  ฟอง  มื้อเย็น  4 ฟอง  ส่วนอาหารประจำวันก็ต้องใส่ใจเป็นพิเศษเช่นกัน  ทั้งรสชาติอาหารก็ต้องเน้นจืด งดเค็ม  ลดหวาน งด ชา กาแฟ  และควรกินอาหารรสเย็นเพราะคุณโชคดีมีภาวะร้อนในร่วมด้วย

เมื่อการรักษาและฟื้นฟูผ่านไปได้  6  เดือน ปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ การสร้างคำสั่งของสมองเป็นไปด้วยดี  กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมีความแข็งแรงสมดุลกัน  คุณโชคดีสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง  เช่น  อาบน้ำแต่งตัวเอง  ลุกนั่ง ยืนเดินได้  แต่ท่าเดินยังไม่ปกติเท่าที่ควร เพราะกล้ามเนื้อบางมัดยังไม่แข็งแรงพอ  และเส้นเอ็นที่น่องตึง  เป็นเหตุให้ข้อเท้ายังกระดกได้ไม่ดีเท่าที่ควร  แต่สมารถใช้มือซ้ายหยิบของชิ้นเล็กได้ดี แม้จะยังถือไว้ไม่ได้นาน เพราะกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงพอ จึงต้องทำกายภาพต่อไปเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อให้แข็งแรงมากขึ้น

ตลอดเวลาที่ดูแลคุณโชคดี ย่อมมีปัญหา อุปสรรคเกิดขึ้นบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่ได้คุยกับคุณโชคดีเพื่อทำความเข้าใจว่า ขั้นตอนการรักษาโดยการกายภาพนั้นต้องใช้เวลา รวมถึงทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อควรปฎิบัติและข้อห้ามต่างๆ คุณโชคดีจึงให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตนเป็นอย่างดี   แต่ในระยะแรกที่ต้องปรับพฤติกรรมการกินอาหารนั้นค่อนข้างยากลำบาก เพราะคุณโชคดีชอบกินอาหารรสจัดแทบทุกประเภท  ทั้งเผ็ด  เค็ม  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ของหวาน  รวมทั้ง อาหารที่ก่อภาวะร้อนข้างใน เช่น อาหารทอด อาหารรสจัด เป็นต้น ในช่วงแรกๆ ที่ปรับเปลี่ยนรสชาติอาหาร คุณโชคดีกินอาหารได้น้อยลง  เบื่ออาหาร แต่ต้องทำใจแข็ง ให้กินอาหารรสจืดต่อไป เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งคุณโชคดีก็เริ่มชินกับอาหารรสจืด

ปัจจุบันนี้ คุณโชคดีสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ สามารถออกไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง เช่น ไปเที่ยว ไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อน หรือเดินจ่ายตลาดด้วยตัวเอง จิตใจจึงแจ่มใส ไม่หดหู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณโชคดีมีกำลังใจดีและมีความตั้งใจที่จะกลับเป็นปกติ พึ่งพาตนเองได้ ไม่เป็นภาระให้กับครอบครัว สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ ญาติผู้ป่วยต้องมีใจเปิดกว้าง ยอมรับการรักษาจากหลายศาสตร์หลายแขนง จึงจะทำให้ผลการรักษาและฟื้นฟูสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังเช่น กรณีตัวอย่างของคุณโชคดีที่ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดสมองตัน  แล้วใช้การรักษาและฟื้นฟูด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผสมผสานกันจนหายเป็นปกติ

 

ผู้เขียน  พท.สุนทรี พีรกุล  เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย

ขอบคุณข้อมูลภาพจาก

เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ที่มา : นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ
มูลนิธิหมอชาวบ้าน – See more at: http://www.goosiam.com/health/html/0008679.html#sthash.wM3Sb3NH.dpuf

 

 

468 ad