เลือกตั้งคณะกรรมการสภาการแพทย์แผนไทย
แพทย์แผนไทยมรดกภูมิปัญญาของแผ่นดิน
แพทย์แผนไทยในอดีตเคยรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ในแผ่นดินสยามมาแต่เก่าก่อน ตั้งแต่ยุคก่อนกรุงสุโขทัย ยุคกรุงสุโขทัย จนมาถึงยุคกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ว่าการแพทย์แผนไทยมีความรุ่งเรืองมาก มีการรวบรวมตำรายาเรียกว่า “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” เรามาสูญเสียภูมิปัญญาทางการแพทย์ครั้งใหญ่ในครั้งที่เราเสียกรุงให้แก่พม่าครั้งที่ 2 แต่บรรพบุรุษเราก็ได้กอบกู้เอกราชและฟื้นฟูการแพทย์ขึ้นมาใหม่ โดยเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้สร้างวัดเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) มีการรวบรวมตำรายา และรูปปั้นฤาษีดัดตน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ตั้งโรงพยาบาลศิริราช และมีการเรียนการสอน ตลอดจนการรักษา ทั้งการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ตะวันตกร่วมกัน ในรัชสมัยนี้วิชาแพทย์แผนไทยได้รับการฟื้นฟูและสนับสนุนอย่างเต็มที่ ถึงแม้ ว่าในยุคนี้จะได้รับอิทธิพลจากการแพทย์ตะวันตกก็ตาม แต่คนไทยก็ยังนิยมหมอไทยและกลัวหมอฝรั่ง ในปลายรัชกาลที่ 5 อิทธิพลของแพทย์ตะวันตกมีมากขึ้นจากการล่าอาณานิคม รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นห่วงว่าการแพทย์แผนไทยจะสูญหาย จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (ยศในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2433 ความว่า “ ขอเตือนว่า หมอฝรั่งนั้นดีจริง แต่ควรให้ยาไทยสูญฤาหาไม่ หมอไทยควรจะไม่ให้มีต่อไปภายน่า ฤาควรจะมีไว้บ้าง ถ้าว่าส่วนตัวฉันเอง สมัครกินยาไทย แลยังวางใจฤาอุ่นใจในหมอไทยมาก ถ้าหมอไทยจะรักษาแบบฝรั่งหมดดูจะเยือกเย็นเหมือนเหนอื่น ไม่เหนพระสงฆ์เลยเหมือนกัน แต่ตัวฉันอายุมากแล้ว เหนจะไม่ได้อยู่จนหมอไทยหมดดอก คนภายน่าจะพอใจอย่างฝรั่งกันทั่วไปจะไม่เดือดร้อนเช่นฉันดอกกระมัง เป็นแค่ลองเตือนดูตามหัวเก่า ๆ ทีหนึ่งเท่านั้น” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ปรากฏว่านักเรียนแพทย์ไทยและประชาชนคนไทยหันไปเลื่อมใสในการแพทย์ตะวันตก การแพทย์แผนไทยจึงถูกลดทอนบทบาท และหมดโอกาสถ่ายทอดความรู้ในโรงเรียนแพทย์ไปในที่สุด ในปี พ.ศ. 2466 ได้มีการยกเลิกการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลศิริราช และยกเลิกการสอนวิชาแพทย์แผนไทย ต่อมาได้มีการออกพระราชบัญญัติควมคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2466 ซึ่งทำให้การแพทย์แผนไทยถูกยุติบทบาทตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ได้มีการวิเคราะห์ ถึงสาเหตุ ของจุดจบการแพทย์แผนไทยไว้ว่า เป็นเพราะแพทย์แผนไทยไม่สามัคคีกันต่างเกี่ยงกัน การใช้ยาไม่เหมือนกัน และการปฏิบัติไม่ลงรอยเดียวกัน ไม่มีหลักสูตรและวิธีการปฏิบัติรักษาแน่นอน การเรียนต้องท่องจำอย่างตายตัว ขาดความประทับใจ และน่าเบื่อ ตำราก็มีจำกัดอยู่เฉพาะตำราหลวง การสอนปฏิบัติ มีบันทึกแต่เพียงอย่างเดียว คือ วิธีให้ยา โดยไม่ปรากฏมีวิธีปฏิบัติ ซึ่งผิดกับการ แพทย์แผนตะวันตก ที่ถือการตรวจ และการวินิจฉัย เป็นสำคัญก่อน
ขณะนี้เป็นที่ยอมรับและประจักษ์ชัดแล้วว่า การแพทย์แผนตะวันตกไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการรักษา โรคที่เกิดจากความเสื่อมและความสึกหรอของร่างกาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหอบหืดภูมิแพ้ โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต โรคปวดเข่า ปวดข้อ ปวดคอ ปวดหลัง ปวดเอว แม้กระทั่งโรคมะเร็ง และโรคอื่น ๆ อีกมากมาย การรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันเพียงอย่างเดียวยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่เป็นเพียงการประคับประคองอาการของโรคและบรรเทาอาการเจ็บปวดมิให้กำเริบกับผู้ป่วยเท่านั้น ซึ่งผลการรักษาในระยะยาวผู้ป่วยมักจะมีอาการของโรคแทรกโรคตามมิรู้จบสิ้น เพราะพิษของยาเคมีที่รับประทานเข้าไปทุกวันสะสมในร่างกายและทำลายอวัยวะภายในร่างกายจนเสียหาย
ปัจจุบันกระแสความนิยมของประชาชนที่หันมาใช้บริการด้านสุขภาพ ด้านการแพทย์แผนไทย กำลังได้รับความสนใจและมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ การนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านของแต่ละท้องถิ่น กลับมาผสมผสานประยุกต์ใช้ในระบบบริการสุขภาพนั้นได้ผลตอบรับที่ดี เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนที่เข้มแข็ง มีการพัฒนาหน่วยบริการที่เป็นรูปธรรม สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของตนร่วมกับการแพทย์ตะวันตกขึ้นอย่างเป็นระบบ มีการสร้างความรู้ด้วยการศึกษาวิจัย การสร้างคนโดยจัดการศึกษาฝึกอบรม และมีการจัดบริการให้การดูแลบริบาลสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์อย่างชัดแจ้งในประเทศจีนและประเทศอินเดีย ซึ่งถือเป็นตัวอย่างรูปธรรมของความสำเร็จในการพลิกฟื้นองค์ความรู้ ภูมิปัญญาแพทย์ของตนให้มีบทบาทสำคัญอย่างทัดเทียม ระบบบริการทางแพทย์ตะวันตก โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลแพทย์แผนจีน และแบบอายุรเวท ได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการให้บริการดูแลรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ และบริบาลสุขภาพ ให้แก่ประชาชนของตนอย่างชัดเจน และกำลังทวีความนิยมเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับนานาชาติด้วย
ขณะนี้พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 2กุมภาพันธ์ 2556 เป็นต้นมา ถึงเวลาแล้วที่ชาวแพทย์แผนไทยต้องมีสภาการแพทย์แผนไทยเพื่อดูแลบริหารจัดการปกครองกันเอง และมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเพื่อพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านภูมิภาคต่าง ๆ อย่างเป็นระบบมีแบบแผน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่จะให้ความไว้วางใจในการรักษาด้วยแพทย์แผนไทย และแพทย์พื้นบ้านอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้วยความรักและหวงแหนต่อมรดกภูมิปัญญาของแผ่นดิน
วัลลภ เผ่าพนัส
ประธานสมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา