Pages Navigation Menu

สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา

อยู่ไฟหลังคลอด

การดูแลสุขภาพหญิงหลังคลอดด้วยการแพทย์แผนไทยในอดีต ไม่มีตำราใดเขียนไว้ มีแต่องค์ความรู้ทางการแพทย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับแม่และเด็กที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ปฐมจินดา เริ่มตั้งแต่การตั้งท้อง การคลอด เรื่องรก การดูลักษณะเด็ก โรคเด็ก ฯลฯ แต่ไม่ได้กล่าวละเอียดเกี่ยวกับการคลอด หลังคลอดอมีเพียงเรื่องของยาที่ใช้ระยะเรือนไฟ เช่น ยาช่วยให้คลอดง่าย ยาแก้รกค้าง ยาใช้แทนการอยู่ไฟ ยาขับน้ำคาวปลา ยาบำรุงน้ำนม ยาขับน้ำนม ยาบำรุงเลือด ฯลฯ

การคลอดบุตรของคนไทยแต่โราณนั้น ทำได้แต่การคลอดธรรมดา ถ้ามีการคลอดผิดปกติแม่จะอยุ่ระหว่างอันตรายมาก  ในขณะที่คลอดจะมีการข่มหน้าท้องโดยใช้กำลังกดที่หน้าท้อง ให้เด็กออกเร็วขึ้น บางรายใช้เท้าเหยียบ หรือใช้ไม้ทำเป็นรูปเท้าเล็กๆกด จึงน่าจะเป็นอันตรายมาก โรคที่น่ากลัวสำหรับแพทย์ในสมัยนั้น ได้แก่ สันิบาตหน้าเพลิง คือระยะที่อยู่ไฟแล้วมีไข้  เนื่องจากการติดเชื้อเวลาคลอด ฉะนั้นหลังคลอดแล้วคุณแม่ต้องอยู่ไฟ เพื่อป้องกันการเกิดอาการต่างๆ และเพื่อฟื้นฟูสุขภาพของคุณแม่เอง

ประโยชน์ของการอยู่ไฟ
1.  ช่วยขับน้ำคาวปลาและของเสียออกจากร่างกาย
2. ช่วยให้มดลูกแห้งและเข้าอู่เร็วขึ้น
3. ช่วยให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น
4. ช่วยเสริมสร้างความพร้อมสำหรับการให้นมบุตร
5. ช่วยลดอาการตาพร่ามัวเวลาอายุมากขึ้น หรือลดการเกิดอาการวัยทอง
6. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
7. ช่วยขจัดไขมันส่วนเกิน
8. ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ ผิวพรรณ และความงามหลังคลอด
9.ช่วยให้แผลบริเวณฝีเย็บหายและแห้งสนิทเร็วยิ่งขึ้น
10. ช่วยป้องกันอาการแทรกซ้อน หรือที่เรียกว่า ลมผิดเดือน

 

 

 

 

กำหนดวันอยู่ไฟ มี 7,9,11,13,15,17 และ 21 หรืออย่างมากถึง 29 วัน จำนวนวันอยู่ไฟที่กำหนดไว้นี้เป็นจำนวนคี่ทั้งหมด เพราะถือคติที่ว่าอยู่ไฟ “วันคู่ลูกถี่ วันคี่ลูกห่าง”

ขั้นตอนการอยู่ไฟ มีดังนี้
1. การเข้ากระโจม
2. การประคบตัว (มีประคบเปียก ประคบแห้ง)
3. การอาบน้ำสมุนไพร
4. การทับหม้อเกลือ
5. การนาบอิฐ
6. การนั่งถ่าน

และนอกจากนั้นต้องมีการจำกัดอาหารการกิน งดอาหารแสลงทุกชนิด อาหารที่สามารถรับประทานได้ เช่น ในสมัยก่อนให้กินข้าวกับเกลือ ปลาแห้ง ปลาย่าง ถ้าวิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว การกินข้าวกับเกลือจะทำให้ได้รับเกลือแร่ (โซเดียมคลอไรด์) ที่ร่างกายสูญเสียไปพร้อมกับการเสียน้ำเสียเลือดขณะคลอด รวมถึงกับการเสียเหงื่อขณะอยู่ไฟ ซึ่งถ้าร่างกายขาดโซเดียมคลอไรด์จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ คลื่นไส้ เซื่องซึมหรือเกิดเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ การกินข้าวกับเกลือจึงทดแทนได้ และข้าวเปล่าสมัยก่อนเป็นข้าวซ้อมมือหรือข้าวกล้องที่ยังไม่ได้ผ่านการขัดสี จึงมีคุณค่าทางอาหารมาก อาหารที่นิยมให้คุณแม่หลังคลอดกิน เช่น แกงเลียงหัวปลี ไก่และตับผัดขิง ฯลฯ

 

ยินดีให้คำปรึกษาด้านการดูแลสุขภาพหญิงหลังคลอดด้วยการแพทย์แผนไทย และสำหรับผู้สนใจเรียนหลักสูตรการผดุงครรภ์ไทย สาขาการแพทย์แผนไทย เรียนจบแล้วสามารถยื่นสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะได้ สอบถามรายละเอียดได้ที่ 088-4007936 (รุ้งวรรณา)

ดูภาพกิจกรรมการเรียนการสอนได้ที่นี่

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข

 

 

468 ad