หลักการรักษาโรคตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย
หลักการรักษาโรคตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย
ทฤษฎีการแพทย์ไทย กล่าวว่า คนเราเกิดมาในร่างกายประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ซึ่งในแต่ละคนจะมีธาตุหลักเป็นธาตุประจำตัว เรียกว่า “ ธาตุเจ้าเรือน เมื่อธาตุทั้งสี่ในร่างกายสมดุลบุคคลนั้นก็จะไม่เจ็บป่วย หากขาดความสมดุลก็จะเกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากจุดอ่อนด้านสุขภาพของแต่ละคนตามเรือนธาตุที่ขาดความสมดุลนั้น เช่น ถ้าในร่างกายมีธาตุไฟมากเกินไปก็จะรู้สึกร้อนภายในหรือเป็นไข้ ถ้ามีธาตุน้ำมากเกินไปก็จะรู้สึกหนาวเย็น ถ้ามีธาตุลมมากเกินไปก็จะรู้สึกอึดอัดแน่นในท้อง เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ร่างกายของคนเราขาดความสมดุลและทำให้เจ็บป่วย ก็เนื่องมาจากพฤติกรรมการก่อโรค ๘ ประการ คือ
๑. กินอาหารมากหรือน้อยเกินไป กินอาหารบูด หรืออาหารที่ไม่เคยกิน กินอาหารไม่ถูกกับธาตุ กินอาหารแสลงกับโรค
๒. ฝืนอิริยาบถ ได้แก่ การนั่ง ยืน เดิน นอน ไม่สมดุลกัน ทำให้โครงสร้างร่างกายเสียสมดุลและเสื่อมโทรม
๓. อากาศไม่สะอาด อยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนหรือเย็นเกินไป
๔. การอด ได้แก่ การอดข้าว อดนอน อดน้ำ อดหรือขาดอาหาร
๕. การกลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ
๖. การทำงานเกินกำลัง ทำงานมากเกินไป หรือมีกิจกรรมทางเพศมากเกินไป
๗. มีความโศกเศร้าเสียใจหรือดีใจจนเกินไป ขาดสติ
๘. มีโทสะมากเกินไป
พฤติกรรมทั้ง ๘ ประการนี้ ที่คนเราประพฤติปฏิบัติอยู่เป็นประจำจนกลายเป็นความเคยชินและกลายเป็นนิสัย ซึ่งเป็นการทำร้ายร่างกายอย่างไม่รู้ตัวจนทำให้ธาตุเจ้าเรือนในร่างกายค่อย ๆ เสียสมดุล และเกิดการเจ็บป่วยในที่สุด
การแพทย์แผนไทยเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมไม่แยกส่วนแบบแผนปัจจุบัน ดังนั้นการดูแลจึงเป็นไปในทุกมิติ ไม่เพียงแต่เรื่องของร่างกาย ความเจ็บป่วย แต่จะพิจารณาถึงความเป็นอยู่ อาหารการกิน การนอนหลับพักผ่อน การขับถ่าย การดื่มน้ำ การใช้ชีวิตประจำวันใน อิริยาบถอย่างไร รวมถึงภาวะ จิตใจ ความเศร้าโศก เสียใจ อารมณ์ความรู้สึกของผู้นั้นประกอบด้วย เพื่อวินิจฉัย ถึงสาเหตุของการเกิดโรค สิ่งเหล่านี้ทางการแพทย์แผนไทย ให้ความสำคัญ พอๆกับการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจวินิจฉัย พยาธิสภาพของผู้ป่วย
ดังนั้นหลักการรักษาโรคตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย จึงจำเป็นจะต้องให้ผู้ป่วยทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยประพฤติผิดซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคให้ได้เสียก่อน และใช้กระบวนการรักษาตามกรรมวิธีของแพทย์แผนไทยเข้าทำการไปรักษาโรคให้หายไป เช่น ใช้ยาสมุนไพร ใช้การนวดแผนไทย ใช้การอบ ใช้การประคบ ใช้การรักษาทางด้านจิตใจ (เช่น พิธีกรรมหรือสมาธิบำบัด) โดยการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายถึงแม้เป็นโรคเดียวกันก็อาจมีวิธีการรักษาไม่เหมือนกัน ซึ่งแพทย์แผนไทยจะต้องทำการตรวจวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเสียสมดุลเนื่องจากสาเหตุหรือพฤติกรรมใดแล้วจึงทำการรักษา ซึ่งเป็นการปรับสมดุลให้ธาตุเจ้าเรือนของผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาวะปกติ ร่างกายก็จะปรับสภาพกลับคืนสู่ความสมบูรณ์แข็งแรงและหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ในที่สุด
วัลลภ เผ่าพนัส
แพทย์แผนไทย บ.ภ. พท.ว. พท.น.
ประธานสมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา