“ตอกเส้นสิบสองไม้ครู”
ตอกเส้นสิบสองไม้ครู
การตอกเส้น คือ ภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านล้านนาในการบำบัดรักษาช่วยเหลือตัวเองและชุมชนมาแต่โบราณ พัฒนามาจากหมอช้างหมอม้า ท่านเหล่านี้คลุกคลีอยู่กับการพยาบาลช้าง ม้า วัว ควายของเจ้าผู้ครองนครในเขตล้านนา มีความจำเป็นต้องใช้วัวต่าง ม้าต่าง ช้างต่างในการคมนาคมขนส่งตามภูมิประเทศที่เป็นเขาสูงรกชัฏ พญาจักรเป็นบุคคลสำคัญเป็นหมอช้างหมอม้ามีวิชาอาคมมากอยู่แจ่งหัวลินทางทิศตะวันตกแจ่งเหนือ ในเขตกำแพงเมืองชั้นในเมืองเชียงใหม่ เป็นหัวน้ำไหลเข้าเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ มีสวนสมุนไพรที่ใช้รักษาคนและสัตว์ มีโรงตีเหล็กทำมีดดาบ เกือกม้า ขอสับช้าง มีโรงไม้ทำล้อเกวียนดุมเกวียน แหย่งช้าง มีเครื่องมือต่าง ๆ ในการทำงานหลายชนิดเป็นต้นกำเนิดของไม้ครูตอกเส้นสิบสองไม้ หมอตอกเส้นจะต้องเรียนรู้กายวิภาคสรีรวิทยาจากครูเก๊า ต้องรู้จักการใช้ไม้ครูที่รูปร่างลักษณ์แตกต่างกันออกไปให้ถูกที่ถูกทางถูกท่า รู้จักการซักประวัติผู้ป่วยว่ามีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เช่น โรคกระดูกพรุน เบาหวาน เส้นเลือดเปราะ ความดันโลหิตสูง การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะภายใน อุบัติเหตุกระดูกหักมาก่อน ฯลฯ หมอตอกเส้นจะต้องมีเวทย์มนต์คาถาพอแก่การ ไม่เช่นนั้นของมักจะย้อนกลับเข้าตัวเอง ไม้ตอกเส้นจะต้องได้รับการปลุกเสกลงยันต์ ลงอาคมจากครูเก๊าก่อนนำไปใช้จึงจะเรียกว่า “ไม้ครู” ไม้ตอกเส้นมักจะทำมาจากไม้ขามแก่น ไม้เกล็ดดำแดง ไม้ดู่ดง ไม้งิ้วดำ ไม้ตายขานตายพราย ไม้ที่กล่าวมานี้ถ้าเป็นไม้ฟ้าฟาด (ไม้ที่ฝ้าผ่าและหักกลาง) จะขลังมีอิธิแรงนัก เหมือนดังมีเมนต์สะกดกำราบโรคภัยไข้เจ็บอยู่ในตัว ผีร้ายทั้งหลายเห็นไม้ครูก็ลนลานหนี หมอวิชิต เกศะรักษ์ได้ร่ำเรียนมาจากพญาจักร เจ้านพ เจ้าน้อย ครูบาหมู ครูบานวล ครูบาปัน ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเมี้ยนแล้วเป็นผู้มีพระคุณยิ่งแล้ว ข้าเจ้าได้สัมประยุทธตอกเส้นสิบสองไม้ครู ณ สมัยนี้ไว้ดีแล้ว เพื่อให้ลูกหลานสืบต่อดังที่ข้าเจ้าได้รับจากครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ขอกราบนมัสการอภิวาทวันทาครูบาอาจารย์เจ้าทั้งหลายไว้เหนือเศียรเกล้าเกศา ตอกเส้นสิบสองไม้ครูรักษาได้หลายโรค เช่น โรคปวดเส้น ปวดเอ็น โรคปวดหลังเจ็บเอว (กระดูกทับเส้น) โรคลมโป่งลมพิษ โรคอัมพฤกษ์อัมพาต ปวดไหล่เอ็นเข้าแค๊ป (สะบักจม) โรคอันเกิดจากถูกกระทำด้วยคุณไสย โดนพิษผีพิษโป่งพิษพรายไร้ร่องรอย
พ่อหมอวิชิต เกศะรักษ์ จบการศึกษาพุทธศาสตร์บัณฑิตเอกรัฐศาสตร์การปกครอง
ใบอนุญาตประกอบโรคศิลป บภ.๑๙๘๙๗ บว.๑๔๘๘๘ บผ.๒๘๑๒ พท.น๒๔๘ และครูผู้รับมอบตัวศิษย์ทุกสาขาแพทย์แผนไทย