สุขภาพดีรู้ได้อย่างไร
การที่กล่าวว่าสุขภาพแข็งแรงนั้นเป็นอย่างไร โดยทฤษฎีการแพทย์แผนไทยดัชนีชี้วัดสุขภาพที่แข็งแรงคือความสมดุลในร่างกายความ สมดุลของร่างกายสามารถรู้ได้อย่างไร รู้ได้จากการสำรวจความรู้สึกว่า เรารู้สึกเบาสบาย มีกำลัง เป็นอยู่ผาสุก ดังนั้น ทุกๆวันเราควรสำรวจความรู้สึกว่าร่างกายสมดุลหรือไม่ ถ้าร่างกายไม่สมดุลควรทำอย่างไร ก็ต้องปรับสมดุล ปรับอย่างไร
ต้องหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียสมดุล ค่อนข้างยากสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก หรือการแพทย์พื้นบ้านอื่นๆ แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าที่จะเรียนรู้ได้
บทความนี้จะบอกให้ท่านทราบทีละเล็กละน้อย โปรดติดตามสาเหตุการเสียสมดุล
สาเหตุที่ 1 ที่ควรพิจารณาคือ ฤดูกาล
การเปลี่ยนแปลงจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน ทำให้อุณหภูมิของบรรยากาศลดลงแต่ความชื้นในบรรยากาศเพิ่มขึ้น สภาวะของร่างกายที่เคยชินกับฤดูร้อนมานานกว่า 4 เดือน ได้รับผลกระทบทันที ร่างกายต้องปรับความร้อนขึ้นเมื่อมีความเย็นมากระทบ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย ถ้าร่างกายปรับสมดุลได้ดีก็ไม่ป่วย ถ้าปรับได้ไม่ดีก็จะรู้สึกไม่ค่อยสบาย และทฤษฏีการแพทย์แผนไทย เหตุของฤดูฝนคือ ธาตุลม ดังนั้นการจะแก้ไขใน เบื้องต้นแก้ไขได้โดยใช้สมุนไพรที่มีรสร้อนเพื่อปรับสมดุลของธาตุลม ในรูปแบบของอาหารหรือน้ำสมุนไพร หรือยาสมุนไพร แต่ต้องเป็นสมุนไพรรสร้อนเท่านั้น
เช่น ขิง ตะไคร้ กระชาย กระเพรา ข่า พริกไทย ยี่หร่า โหระพา พริก แมงลัก กุ้ยช่าย ต้นหอม ผักชี ผักคะน้า แครอท กล่ำปลี ชะอม ถั่วฝักยาว สะตอ ลูกเหนียง กระเฉด ฟักทอง ฝรั่ง เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย ทุเรียน น้อยหน่า กล้วยไข่ ละมุด มะขามป้อม สมอพิเภก มะม่วงสุก เป็นต้น ดูตัวอย่างสมุนไพรแล้วทำให้คิดถึงต้มยำต่างๆ แกงเผ็ด
กินสมุนไพรรสร้อนจนรู้สึกตัวเบาสบาย มีกำลัง หมายความว่าการปรับสมดุลเสร็จสิ้นแล้ว ร่างกายพร้อมเผชิญกับฤดูฝน ก็หยุดกินได้ หรือจะกินรสร้อนต่อก็ได้แต่ถ้าไม่รู้สึกเบาสบาย ก็ให้หยุดกิน ในช่วงการเปลี่ยนแปลงฤดู ผู้คนมักไม่ค่อยสบายเนื้อสบายตัว
การเปลี่ยนแปลงจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว อุณหภูมิของบรรยากาศจะลดต่ำลงอีก และความชื้นจะลดลงด้วย หมายถึงบรรยากาศจะแห้งกว่าในฤดูฝน สภาวะร่างกายก็ต้องปรับสมดุลอีกครั้ง โดยทฤษฏีการแพทย์แผนไทยเหตุของฤดูคือ ธาตุน้ำ สมุนไพรที่ใช้เพื่อช่วยการปรับสมดุลของร่างกายคือ สมุนไพรรสเปรี้ยว และรสขมช่วยให้เกิดสมดุลของธาตุน้ำในร่างกาย ก็จะเกิดความรู้สึกเบาสบาย ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยวต่างๆ ผักรสเปรี้ยว มะระ มะระขี้นก
การเปลี่ยนแปลงจากฤดูหนาวเป็นฤดูร้อน อุณหภูมิของบรรยากาศจะเพิ่มขึ้น ร่างกายต้องปรับ
สมดุลอีกครั้งเพื่อให้ความรู้สึกเบาสบายกลับคืนมาอีกครั้ง โดยทฤษฏีการแพทย์แผนไทยเหตุของฤดูร้อน คือธาตุไฟ สมุนไพรที่ช่วยปรับสมดุลของร่างกายคือ สมุนไพรรสจืดเย็น ได้แก่ฝัก แตง ไช้เท้า ตำลึง ผักบุ้ง ผักกาดขาว มะระ บัวบก บวบ เป็นต้น
แต่สภาวะอากาศในปัจจุบันไม่แบ่งเป็นฤดูกาลที่ชัดเจน บางปีฤดูหนาวก็มีฝน บางปีฤดูหนาวก็ไม่มี บางปีในหนึ่งวันมีสามฤดูทั้งร้อนฝนหนาวเรียกว่าสันนิบาตฤดู สภาวะร่างกายจะปรับตัวยาก ทำให้คนไม่ค่อยสบายจำนวนมาก ความรู้สึกสุขสบายของมนุษย์ก็ลดลงกว่าในสมัยอดีตที่ฤดูกาลแบ่งระยะเวลาอย่างชัดเจน
ดังนั้นเพื่อความสุขในการดำรงชีวิตมนุษย์ในปัจจุบันต้องช่วยตัวเองโดยการเรียนรู้ ร่างกายของตนเองว่าจะต้องทำอย่างไรในการปรับสมดุลของร่างกายตนเองโดยใช้สมุนไพรมาช่วย
สุนทรี พีรกุล แพทย์แผนไทย
นายกสมาคมหมอเมืองล้านนา