สรรพคุณยาหอม
ยาหอมไทยดีอย่างไร
ยาหอม เป็นยาแผนโบราณที่อยู่คู่กับสังคมไทยมากกว่า 3 ศตวรรษ แม้ในปัจจุบันสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก การแพทย์แบบวิทยาศาสตร์ซึ่งรักษาหลาย ๆ โรคให้หายได้อย่างรวดเร็ว ได้รับความนิยมสูงขึ้นจนทำให้ยาไทยแทบทุกชนิดถูกทอดทิ้งและเสื่อมถอยลง
แม้ว่ายาหอม ยังคงได้รับความนิยมอยู่บ้างแต่ถูกจำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะภาพลักษณ์ของยาหอมในความรู้สึกของคนยุคนี้ คือ ความแก่ ชรา โบราณเมื่อบริบททางสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไป ยาฝรั่งและการรักษาโรคแบบตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย ประกอบกับยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศตามแบบตะวันตก วิถีการดูแลสุขภาพแบบตะวันตกที่ต้องมีผลรองรับทางวิทยาศาสตร์ มีสรรพคุณชัดเจนและจับต้องได้ จึงได้รับยกย่องว่าเป็นสิ่งดีงาม มีคุณค่า และน่าเชื่อถือกว่าองค์ความรู้ดั้งเดิมอย่างยาหอม ทั้งที่สรรพคุณของยาหอมจะเข้าไปปรับสมดุลธาตุในร่างกาย ยาหอมจึงไม่ได้เป็นแค่การรักษาแต่ยังเป็นวิธีดูแลสุขภาพอย่างอ่อนโยนที่สุด เพราะไม่มีผลข้างเคียงแต่ไม่อาจต้านทานแรงนิยมยาฝรั่งที่เน้นออกฤทธิ์แรงและได้ผลเร็วเหมาะกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบกลายเป็นสิ่งที่คนเรานึกถึงอันดับแรก ส่วนแพทย์แผนโบราณเป็นเพียงทางเลือกที่ถูกหลงลืมและถูกเมิน ซึ่งถูกตอกย้ำด้วยทัศนคติของคนรุ่นใหม่ต่อยาหอมที่ถูกทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่เชย ล้าสมัย และไม่ได้มาตรฐาน
ตำนานยาหอม
ว่ากันว่าตำรับยาหอมเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในยุคเริ่มต้นยาหอมถือว่าเป็นของสูง เป็นของหายากที่ใช้กันในหมู่เจ้านายที่มีทรัพย์และมีอำนาจวาสนา เพราะเครื่องยาหลายตัวต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งยังต้องใช้บริวารจำนวนมากมาบด มาร่อน มาปรุง ให้ได้ยาหอมคุณภาพดี จนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงปรารภให้กระจายยาดี ๆ ไปตามหัวเมืองทั่วประเทศ เพื่อให้ราษฎรที่อยู่ห่างไกลที่หายาแก้โรคภัยได้ยากภายใต้ชื่อ “ยาโอสถสภา” (ยาสามัญประจำบ้าน) และจัดตั้งตำรับยาตำราหลวงขึ้น ซึ่งมียาหอมเป็นหนึ่งในนั้นปัจจุบัน มียาหอมมากกว่า 500 ตำรับ ซึ่งแต่ละตำรับประกอบไปด้วยสมุนไพร (พืชวัตถุ) มากมายหลายสิบชนิด อาทิ ขิง ดีปลี สะค้าน ช้าพลู เจตมูลเพลิงแดง แห้วหมู เทียน กระวาน กานพลู จันทร์ เปราะ เกสรบัวหลวง ฯลฯ และยังรวมไปถึงสัตว์วัตถุและแร่วัตถุอีกหลายชนิด เช่น
ชะมดเช็ด คือ เม็ดปรวดในตัวค่าง มีฤทธิ์ช่วยขับเสลดหรือเสมหะในระบบทางเดินหายใจ
หญ้าฝรั่น เป็นเกสรตัวเมียของดอกหญ้าฝรั่น ซึ่งมีเพียง 3 เส้น ใน 1 ดอก และต้องเก็บถึง 1.6 แสนดอกเพื่อให้ได้น้ำหนัก 1 กิโลกรัม จัดเป็นเครื่องเทศที่มีราคาสูงกว่าทองคำ มีฤทธิ์บำรุงหัวใจ
อำพันทอง คือของเหลวที่ขับจากท้องปลาวาฬตัวผู้หลังการผสมพันธุ์ ช่วยบำรุงกำลัง แก้เป็นลม ขับเสมหะ
เห็ดนมเสือ คือเห็ดที่เกิดจากน้ำนมเสือโคร่งแม่ลูกอ่อนที่คัดไหลลงสู่พื้นดิน เก็บได้จากป่าดินเขา มีสรรพคุณแก้อาการเหนื่อยเพลีย แก้ไอและบำรุงกำลัง
ทองคำเปลว แก้อักเสบ ลดไข้
พิมเสนเกล็ด เป็นน้ำค้างแข็งในปล้องไม้ไผ่ผสมในเยื่อไม้ ต้องนำเข้าจากประเทศจีนเท่านั้น ซึ่งจะมีกลิ่นและสรรพคุณดีกว่าพิมเสนสังเคราะห์แบบทั่ว ๆ ไปที่มาของชื่อยาหอมนี้มาจากกลิ่นของสมุนไพรในตำรับยาที่ใช้ในการปรุง ส่วนใหญ่จะมีกลิ่นหอมอย่างหญ้าฝรั่น ไม้กฤษณา พิมเสนเกล็ด จันทน์เทศ จันทน์แดง จันทน์ขาว ดอกพิกุล บุนนาค สารภี เกสรบัวน้ำ เปราะหอม เป็นต้น
สรรพคุณยาหอม สรรพคุณหลัก ๆ ของยาหอมคือ มุ่งที่ปรับสมดุลของเลือดลมในร่างกาย บำรุงหัวใจ เพราะในร่างกายคนเราจะประกอบไปด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้าธาตุใดธาตุหนึ่งทำงานผิดปกติก็จะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ กันไป โดยเฉพาะเรื่องของการไหลเวียนของระบบโลหิต ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาท ซึ่งก็คือธาตุลม ยาหอมมุ่งเข้ารักษาหรือว่าบำรุงธาตุลม คือหัวใจและลมในร่างกายให้ไหลเวียนเป็นปกติ ตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย เลือดลมจึงมีความหมายต่อสุขภาพค่อนข้างกว้าง จนมีคำกล่าวว่า “โรคเลือดลมมี 500 จำพวก เมื่อเลือดลมเป็นปกติก็ย่อมดีต่อหัวใจและสมอง” ด้วยสรรพคุณเช่นนี้ ในอดีตยาหอมจึงเป็นยาประจำบ้านและนิยมใช้กันทุกเพศทุกวัยในส่วนของสรรพคุณ นอกจากยาหอมจะช่วยแก้อาการปวดมึนศีรษะ เป็นลม วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่นแล้ว หากเปิดตำราจะพบว่ายาหอมยังช่วยบำรุงลมประกัง (ลมที่คั่งหรือขัดที่รอบ ๆ กระบอกตา) ซึ่งนัยยะก็คือ ยาหอมสามารถช่วยรักษาอาการปวดจากไมเกรนได้นอกจากนี้ ยาหอมยังช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะข้างเดียว ความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งบำรุงประสาทและบำรุงหัวใจอีกด้วย ที่สำคัญคือ ปัจจุบันมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ถึงสรรพคุณต่าง ๆ ของยาหอมว่า มีผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายของเราด้วยยาหอม
รับประทานอย่างไรดี วิธีการรับประทานยาหอม ทำได้หลายวิธีทั้งนำมาผสมน้ำต้มสุกชงดื่ม หรือจะเคี้ยว-อมไว้ในปาก อีกวิธีหนึ่งคือทานทั้งเม็ดพร้อมดื่มน้ำตาม จะเลือกรับประทานแบบไหนก็ได้ผล เนื่องจากยาหอมจะลงไปแตกตัวที่กระเพาะอาหารเหมือนกัน แต่วิธีดั้งเดิมและดีที่สุดของการรับประทานยาหอม คือ ผสมน้ำให้ละลายแล้วจิบรับประทาน เพราะนอกจากจะได้สรรพคุณแล้ว ยังทำให้ชุ่มคอ ชื่นใจอีกด้วย แต่รสชาติอาจจะรู้สึกขมนิดหน่อยแต่อย่าลืมว่า “หวานเป็นลมขมเป็นยา” วิธีนี้ได้สุนทรีของรสและกลิ่นของยาหอมมากที่สุด
บทพิสูจน์คุณค่าทางวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันนี้ยาหอมไทยเริ่มก้าวไกลสู่โลกาวิวัฒน์ เนื่องจากได้มีการศึกษาพัฒนายาหอมกันอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 สถาบันการแพทย์แผนไทยกระทรวงสาธารณสุขได้หยิบเอายาหอมมาศึกษาวิจัยสรรพคุณใหม่ รวมทั้งทบทวนงานวิจัยเดิมทั้งหมดเกี่ยวกับยาหอมซึ่งเคยศึกษากันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515การพัฒนายาหอมในขั้นต้นนี้ เป็นการศึกษาสรรพคุณตามวิธีการทางการแพทย์เภสัชแผนใหม่ โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิชาการด้านการแพทย์ เภสัชจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทยและสมาคมผู้ผลิตยาแผนไทย
ผลสรุปจากงานวิจัยสมัยใหม่ที่ยืนยันความมหัศจรรย์ของภูมิปัญญาไทยด้านสมุนไพรตำรับยาหอมมีดังนี้
– ยาหอมมีความปลอดภัย สมุนไพรจำนวน 50-60 ชนิดที่เป็นวัตถุส่วนประกอบของยาหอมที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยานั้นได้รับการพิสูจน์ทดลองอย่างดีแล้วว่าไม่มีความเป็นพิษ
– สรรพคุณบำรุงหัวใจ จากการวิจัยพบว่า ยาหอมมีฤทธิ์เพิ่มแรงหดตัวของหลอดเลือดแดงใหญ่ของหัวใจ ซึ่งหมายความว่า ช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจอย่างช้า ๆ เห็นผลภายใน 5 นาที และออกฤทธิ์นานถึง 20 นาที ในขณะเดียวกันจะช่วยเพิ่มความดันโลหิตภายใน 15-30 นาที โดยจะออกฤทธิ์อยู่นานถึง 60-90 นาที
– สรรพคุณเพิ่มแรงบีบของหัวใจและเพิ่มความดันโลหิต ทำให้มีผลในการเพิ่มการไหลเวียนโลหิตของหลอดเลือดขนาดเล็กที่ไปเลี้ยงสมองและอวัยวะส่วนปลายของทั้งภายในร่างกาย เช่น ปอด ตับ ไต กระเพาะอาหาร ฯลฯ และอวัยวะภายนอกร่างกาย เช่น เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงปลายมือ ปลายเท้า เป็นต้น
ฤทธิ์ของยาหอมต่อระบบไหลเวียนโลหิตของหัวใจ สมอง และทั่วร่างกาย ซึ่งค้นพบจากงานวิจัยสมัยใหม่เป็นหลักฐานยืนยันถึงสรรพคุณของยาหอมซึ่งค้นพบมาตั้งแต่ครั้งโบราณแล้วว่าช่วยแก้อาการใจสั่น เป็นลม หน้ามืด ตาลาย วิงเวียนศีรษะ เหน็บชารวมทั้งอาการเนื่องจากมีความดันโลหิตต่ำ และเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ
– สรรพคุณแก้จุกเสียด ปวดท้อง จากการศึกษาวิจัย ยาหอมมีผลต่อการหลั่งสารต่าง ๆ ในกระเพาะอาหาร กล่าวคือ ยาหอมมีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรด การหลั่งเอนไซน์เปปซิน ในขณะเดียวกันช่วยเพิ่มการหลั่งเมือกที่เคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารซึ่งฤทธิ์ดังกล่าวนี้เองเป็นสรรพคุณส่วนหนึ่งของยาหอมที่ช่วยแก้อาการจุก เสียด ปวดท้อง
แหล่งที่มา : นิตยสาร Health Magazine