ประวัติการแพทย์แผนไทย
ประวัติความเป็นมาและหลักการรักษาโรคตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย
ประวัติความเป็นมา การแพทย์แผนไทยเชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากการแพทย์แบบอายุรเวทของอินเดียโดยผู้ที่เป็นแพทย์แผนไทยทุกคนจะเคารพและยกย่องให้ท่านชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์อินเดียซึ่งเป็นแพทย์ประจำตัวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็น บรมครูด้านการแพทย์แผนไทย ซึ่งเรื่องนี้หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาจะทราบว่าในสมัยพุทธกาล ท่านครูแพทย์เล่าสืบต่อกันมาว่า หมอชีวกเป็นบุตรของนางสาลวดี โสเภณีประจำเมืองราชคฤห์ ซึ่งตั้งครรภ์โดยบังเอิญเมื่อคลอดออกมาจึงนำไปทิ้งไว้นอกเมือง เจ้าชายอภัยราชกุมารเก็บไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม หมอชีวกสนใจเรียนวิชาแพทย์ที่เมืองตักศิลา เมื่อเรียนจบ ครูได้สั่งให้หมอชีวกออกไปตรวจดูต้นไม้ในรัศมี ๑ โยชน์ว่า มีต้นไม้ใดที่ไม่เป็นยาบ้างให้เอามาให้ดู หมอชีวกไปตรวจดูแล้วกลับมาบอกว่าต้นไม้ที่ไม่เป็นยาหาไม่ได้เลย ครูจึงบอกว่าเรียนสำเร็จแล้วหมอชีวกจึงได้ใช้วิชาแพทย์ช่วยเหลือรักษาผู้เจ็บป่วยจนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย แต่ที่สำคัญท่านได้เป็นแพทย์ประจำตัวถวายการรักษาให้กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในราวปี พ.ศ. ๒๗๓ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณะทูตออกเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเถรวาท ไปยังดินแดนต่างๆ ๙ สาย สายหนึ่งมีพระโสณะและพระอุตระไปยังดินแดนสุวรรณภูมิ เชื่อกันว่าในคณะสมณะฑูตต้องมีคณะแพทย์เดินทางร่วมมาด้วย การแพทย์อินเดียจึงเริ่มเข้ามาสู่สุวรรณภูมิพร้อมกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและได้ผสมกลมกลืนกับการแพทย์พื้นบ้านแบบดั้งเดิมของไทย และมีวิวัฒนาการเรื่อยมา
วิวัฒนาการการแพทย์แผนไทย
ยุคก่อนอาณาจักรสุโขทัย จากศิลาจารึกของอาณาจักรขอมจารึกไว้ว่าในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้สร้างสถานพยาบาล เรียกว่า “อโรคยาศาลา” ไว้จำนวนมากไว้สำหรับให้บริการรักษาผู้เจ็บป่วย โดยมี หมอ พยาบาล เภสัช ผู้ปรุงอาหาร ผู้จดบันทึกสถิติ คอยให้บริการผู้เจ็บป่วย
ยุคอาณาจักรสุโขทัย
มีการค้นพบหินบดยาสมัยทวารวดี และศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งบันทึกไว้ว่า “ทรงสร้างสวนสมุนไพรบนเขาหลวง เพื่อให้ราษฎรเก็บเอาสมุนไพร ไปใช้ยามเจ็บไข้ได้ป่วย”
ยุคกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การแพทย์แผนไทยมีความรุ่งเรืองมากโดยเฉพาะการนวด และมีการรวบรวมตำรายา เรียกว่า “ตำราโอสถพระนารายณ์” ในสมัยนี้การแพทย์แผนตะวันตก เริ่มเข้ามามีบทบาทบ้างแต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมจากประชาชน
ยุครัตนโกสินทร์
รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์ วัดโพธารามหรือวัดโพธิ์ ขึ้นเป็นอารามหลวง ใช้ชื่อว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงให้รวบรวมและจารึกตำรายา ฤาษีดัดตนและตำราการนวดไทยไว้ตามศาลาราย มีการตั้งกรมหมอ ผู้ที่รับราชการเรียกว่า “หมอหลวง” ส่วนหมอที่เป็นประชาชนทั่วไปเรียกว่า “หมอราษฎร” หรือ “หมอเชลยศักดิ์”
รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดให้ผู้ชำนาญโรค และสรรพคุณยา รวมทั้งผู้ที่มีตำรายาดี ๆ นำเข้าทูลเกล้าถวาย และให้หมอหลวงคัดเลือก เป็นตำราหลวง ๒ เล่ม คือ
๑. ตำรายาในโรงพระโอสถ
๒. ตำราพระโอสถ
นอกจากนี้ยังโปรด ให้ตรากฎหมาย ชื่อ กฎหมายพนักงานพระโอสถถวาย
รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดให้มีการปฏิสังขรณ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยมีพระประสงค์ที่จะให้วัดพระเชตุพนฯ เป็นแหล่งวิชาความรู้ แก่ประชาชน มีการจารึก ตำรายา ตำราหมอนวด เภสัชสมุนไพร ฯลฯ โดยจารึกแผ่นศิลา ประดับไว้ในพระอาราม และยังโปรดให้ปั้นรูปฤาษีดัดตนเพิ่มขึ้นอีก
รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ตั้งศิริราชพยาบาลขึ้น และมีการเรียนการสอน ตลอดจนรักษาทั้งการแพทย์แผนไทย และตะวันตกร่วมกัน มีการพิมพ์ตำราขึ้นใช้ในโรงเรียน ได้แก่
๑. ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๑-๒-๓
๒. ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง เล่ม ๑-๒
๓. ตำราแพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม ๑-๒-๓
พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๕ มีถึงกรมหมื่นดำรงราชานุภาพวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๓๓
“ ขอเตือนว่า หมอฝรั่งนั้นดีจริง แต่ควรให้ยาไทยสูญฤาหาไม่ หมอไทยควรจะไม่ให้มีต่อไปภายน่า ฤาควรจะมีไว้บ้าง ถ้าว่าส่วนตัวฉันเอง สมัครกินยาไทย แลยังวางใจฤาอุ่นใจในหมอไทยมาก ถ้าหมอไทยจะรักษาแบบฝรั่งหมดดูจะเยือกเย็นเหมือนเหนอื่น ไม่เหนพระสงฆ์เลยเหมือนกัน แต่ตัวฉันอายุมากแล้ว เหนจะไม่ได้อยู่จนหมอไทยหมดดอก คนภายน่าจะพอใจอย่างฝรั่งกันทั่วไปจะไม่เดือดร้อนเช่นฉันดอกกระมัง เป็นแค่ลองเตือนดูตามหัวเก่า ๆ ทีหนึ่งเท่านั้น ”
รัชกาลที่ ๖ มีการออกกฎหมายควบคุมการประกอบโรคศิลปะการแพทย์แผนโบราณนับเป็นจุดเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ ทำให้หมอแผนโบราณเลิกประกอบวิชาชีพนี้เป็นจำนวนมาก
รัชกาลที่ ๗ ทรงตรากฎหมายเสนาบดี แบ่งการประกอบโรคศิลปะ ออกเป็น
ก. แผนปัจจุบัน คือ การประกอบโรคศิลปะโดยอาศัยความรู้จากตำราอันเป็นหลักวิชาโดยสากลนิยม โดยการอาศัย การศึกษา ตรวจค้น และทดลองของผู้รู้ในทางวิทยาศาสตร์
ข. แผนโบราณ คือ การประกอบโรคศิลปะ อาศัยความสังเกต ความชำนาญ อันสืบทอดกันมา หรืออาศัยตำราอันมีมาแต่โบราณ โดยมิได้ดำเนินไป ในทางวิทยาศาสตร์จากข้อจำกัดความดังกล่าว ทำให้การแพทย์แผนไทยไม่อาจใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ได้ ทำให้หยุดนิ่งอยู่กับที่
รัชกาลที่ ๙ ในสมัยรัชกาลปัจจุบัน การแพทย์แผนไทยได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งหนึ่ง โดยรัฐบาลได้ออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พุทธศักราช ๒๕๔๒ ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ และลำดับต่อมารัฐบาลได้ออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งได้มีการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ไปลงนามในปฏิญญาปักกิ่งและปฏิญญาอาเซียน ซึ่งเนื้อหาในปฏิญญามีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการแพทย์แผนไทยอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้เป็นทางเลือกในการรักษาโรคของประชาชนเคียงคู่ขนานไปกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้การแพทย์แผนไทยมีโอกาสได้รับการพัฒนาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
หลักการรักษาโรคตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย
ตามทฤษฎีการแพทย์ไทย กล่าวว่า คนเราเกิดมาในร่างกายประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งในแต่ละคนจะมีธาตุหลักเป็นธาตุประจำตัว เรียกว่า “ ธาตุเจ้าเรือน ” ซึ่งธาตุเจ้าเรือนนี้มี 2 ลักษณะ คือ ธาตุเจ้าเรือนเกิดซึ่งจะเป็นไปตามวันเดือนปีเกิด และธาตุเจ้าเรือนปัจจุบันที่พิจารณาจากบุคลิกลักษณะอุปนิสัย และภาวะด้านสุขภาพกายและใจ ว่าสอดคล้องกับลักษณะของบุคคลธาตุเจ้าเรือนอะไร เมื่อธาตุทั้งสี่ในร่างกายสมดุลบุคคลจะไม่เจ็บป่วย หากขาดความสมดุลมักจะเกิดความเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากจุดอ่อน ด้านสุขภาพของแต่ละคนตามเรือนธาตุที่ขาดความสมดุลนั้น เช่น ถ้าในร่างกายมีธาตุไฟมากเกินไปก็จะรู้สึกร้อนภายในหรือเป็นไข้ ถ้ามีธาตุน้ำมากเกินไปก็จะรู้สึกหนาวเย็น ถ้ามีธาตุลมมากเกินไปก็จะรู้สึกอึดอัดแน่นในท้อง เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ร่างกายของคนเราขาดความสมดุลและทำให้เจ็บป่วย ตามทฤษฎีแพทย์แผนไทยกล่าวไว้ว่ามาจากสาเหตุ ๘ ประการ คือ
๑. อาหาร ไม่ระวังในการบริโภค ในการบริโภคมากเกินกว่าปกติ โดยไม่รู้ประมาณในอาหาร หรือ ตนเคยบริโภคเพียงไร แต่บริโภค น้อยกว่าที่เคย หรืออาหารนั้นเป็นของบูดของเสีย และที่ควรจะทำให้สุกเสียก่อน แต่ไม่ทำให้สุก หรือของที่มีรสแปลกกว่าที่ตนเคยบริโภค ก็บริโภค จนเหลือเกินไม่ใช่ชิมดู แต่พอรู้รสและบริโภคอาหารไม่ตรงกับเวลาที่เคย เช่นตอนเช้าเคยบริโภคอาหาร ไม่ได้บริโภค ปล่อยให้ล่วงเลยไปจนเวลา บ่าย การที่บริโภคอาหารโดยอาการต่างๆ นี้ ย่อมทำให้ปกติธาตุในกายแปรได้ โรคที่มีขึ้นในกายจัดได้ชื่อว่า โรคเกิดเพราะอาหาร
๒. อิริยาบถ มนุษย์ทั้งหลายควรใช้อิริยาบถ ให้ผลัดเปลี่ยนกันตามปกติ ๔ อย่างคือ นั่ง นอน ยืน เดิน ถ้างอย่างใดอย่างหนึ่งมากไป ไม่ใช่ร่างกายเส้นเอ็นให้ผลัดเปลี่ยนไปบ้าง เส้นเอ็นก็จะแปรไปจากปกติ ทำให้เกิดโรคได้ นี่จัดได้ชื่อว่า โรคเกิดเพราะอิริยาบถ
๓. ความร้อนและความเย็น บุคคลที่เคยอยู่ในที่ร้อน ไปถูกความเย็นมากไปก็ดี หรือเคยอยู่ในที่เย็น ไปถูกความร้อนมากไปก็ดี เช่น เคยอยู่ในร่ม ต้องออกไปกลางแจ้ง เวลาแดดร้อนจัด ไม่มีอะไรกำบัง หรือไม่มี พอที่จะกำบังได้ก็ดี เคยอยู่ในที่เปิดเผย ต้องไปอยู่ในที่ อับอบอ้าวร้อน มาก ไปก็ดี หรือ ผู้ที่ต้องไปถูกฝน ถูกน้ำค้าง และลงไปแช่อยู่ในน้ำนานๆ ก็ดี เหตุเหล่านี้ ย่อมทำให้เกิดโรคได้ นี่จัดได้ชื่อว่า โรคเกิดเพราะความร้อนและเย็น
๔. อดนอน อดข้าว อดน้ำ เมื่อถึงเวลาไม่นอน ต้องทรมานอยู่จนเกินกว่าเวลาอันสมควร หรือ ถึงเวลากินข้าวแต่ไม่ได้กิน โดยที่มี เหตุจำเป็นต้อง อด อยากกินน้ำไม่ได้กินต้องอด ต้องทนไปย่อมเป็นเหตุ ทำให้เกิดโรคได้ นี่จัดได้ชื่อว่า โรคเกิดเพราะอดนอน อดข้าว อดน้ำ
๕. กลั้นอุจจาระ ปัสสาวะ ตามธรรมดาอุจจาระ ปัสสาวะ เมื่อถึงคราวจะตก แต่กลั้นไว้ไม่ให้ตก ปล่อยให้ล่วงเลยเวลาไปมากกว่าสมควร ก็แปรปรวนไปจากความเป็นปกติ ย่อมทำให้ธาตุในกายแปรปรวน ไปด้วย เป็นหนทางทำให้เกิดโรคได้ นี่จัดได้ชื่อว่าโรคเกิดเพราะกลั้น อุจจาระ ปัสสาวะ
๖. ทำการเกินกำลังกาย คือ ทำการยกแบกหามหิ้วฉุดลากของที่หนักเกินกว่ากำลังของตน จะทำก็ดี หรือวิ่งกระโดดตัวออกกำลังแรง มากเกินไปก็ดี ย่อมทำให้อวัยวะ น้อยใหญ่ไหวเคลื่อนผิดปกติ หรือต้องคิดต้องทำงานต่างๆ โดยที่ต้องเหน็ดเหนื่อยเพราะต้องใช้ความคิด และกำลังกายมากเกินกว่าปกติก็ดี เหล่านี้ชื่อว่าทำการเกินกำลังกาย ย่อมทำให้เกิดโรคได้นี่ จัดได้ชื่อว่า โรคเกิดเพราะทำการเกินกำลัง
๗. ความเศร้าโศกเสียใจ บุคคลที่มีความทุกข์ร้อนมาถึงตัวก็เศร้าโศกเสียใจ จนถึงแก่ลืมความสุข สำราญที่เคยมีเคยเป็นมาแต่ก่อนเสีย ที่สุดอาหารที่บริโภคเคยมีรสก็เสื่อมถอยหรือละเลยเสียก็มี เมื่อเป็นเช่นนี้ น้ำเลี้ยงหัวใจที่ผ่องใสก็ขุ่นมัวเหือดแห้งไป ก็ย่อมจะให้เกิด มีโรค ขึ้นในกายได้ นี่ชื่อว่า โรคเกิดเพราะความเศร้าโศกเสียใจ
๘. โทสะ บุคคลที่มีโทสะอยู่เสมอ ไม่มีสติที่จะยึดหน่วงไว้ได้ย่อมทำกิริยาฝ่าฝืนร่างกาย ละทิ้งความบริหารร่างกายของตนเสีย จนถึงทอดทิ้งร่างกาย หรือทุบตีตัวเอง เช่นนี้ก็ทำให้เกิดโรคได้ นี่ชื่อว่าโรคเกิดเพราะโทสะ
พฤติกรรมทั้ง ๘ ประการนี้ ที่คนเราประพฤติปฏิบัติอยู่เป็นประจำจนกลายเป็นความเคยชินและกลายเป็นนิสัย ซึ่งเป็นการทำร้ายร่างกายอย่างไม่รู้ตัวจนทำให้ธาตุเจ้าเรือนในร่างกายค่อย ๆ เสียสมดุล และเกิดการเจ็บป่วยในที่สุด
ดังนั้นหลักการรักษาโรคตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย จึงจำเป็นจะต้องให้ผู้ป่วยทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยประพฤติผิดและทำให้เกิดโรค และใช้กระบวนการรักษาตามกรรมวิธีของแพทย์แผนไทยเข้าทำการไปรักษาโรคให้หายไป เช่น ใช้ยาสมุนไพร ใช้การนวดแผนไทย ใช้การอบ ใช้การประคบ ใช้การรักษาทางด้านจิตใจ (เช่น พิธีกรรมหรือสมาธิบำบัด) โดยการรักษาผู้ป่วยแต่ละมีรายละเอียดและวิธีการรักษาไม่เหมือนกัน ซึ่งแพทย์แผนไทยจะต้องทำการตรวจวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเสียสมดุลเนื่องจากสาเหตุใดแล้วจึงทำการรักษา ซึ่งเป็นการปรับสมดุลให้ธาตุเจ้าเรือนของผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาวะปกติ ร่างกายก็จะปรับสภาพกลับคืนสู่ความสมบูรณ์แข็งแรงและหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ในที่สุด
สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา