วิวัฒนาการการแพทย์แผนไทย
ประวัติความเป็นมา การแพทย์แผนไทยเชื่อกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากการแพทย์แบบอายุรเวทของอินเดียโดยผู้ที่เป็นแพทย์แผนไทยทุกคนจะเคารพและยกย่องให้ท่านชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์อินเดียซึ่งเป็นแพทย์ประจำตัวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็น บรมครูด้านการแพทย์แผนไทย ซึ่งเรื่องนี้หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาจะทราบว่าในสมัยพุทธกาล ท่านครูแพทย์เล่าสืบต่อกันมาว่า หมอชีวกเป็นบุตรของนางสาลวดี โสเภณีประจำเมืองราชคฤห์ ซึ่งตั้งครรภ์โดยบังเอิญเมื่อคลอดออกมาจึงนำไปทิ้งไว้นอกเมือง เจ้าชายอภัยราชกุมารเก็บไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม หมอชีวกสนใจเรียนวิชาแพทย์ที่เมืองตักศิลา เมื่อเรียนจบ ครูได้สั่งให้หมอชีวกออกไปตรวจดูต้นไม้ในรัศมี ๑ โยชน์ว่า มีต้นไม้ใดที่ไม่เป็นยาบ้างให้เอามาให้ดู หมอชีวกไปตรวจดูแล้วกลับมาบอกว่าต้นไม้ที่ไม่เป็นยาหาไม่ได้เลย ครูจึงบอกว่าเรียนสำเร็จแล้วหมอชีวกจึงได้ใช้วิชาแพทย์ช่วยเหลือรักษาผู้เจ็บป่วยจนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย แต่ที่สำคัญท่านได้เป็นแพทย์ประจำตัวถวายการรักษาให้กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในราวปี พ.ศ. ๒๗๓ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณะทูตออกเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเถรวาท ไปยังดินแดนต่างๆ ๙ สาย สายหนึ่งมีพระโสณะและพระอุตระไปยังดินแดนสุวรรณภูมิ เชื่อกันว่าในคณะสมณะฑูตต้องมีคณะแพทย์เดินทางร่วมมาด้วย การแพทย์อินเดียจึงเริ่มเข้ามาสู่สุวรรณภูมิพร้อมกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและได้ผสมกลมกลืนกับการแพทย์พื้นบ้านแบบดั้งเดิมของไทย และมีวิวัฒนาการเรื่อยมา