ฤดูฝนกำลังจะมา ดูแลสุขภาพอย่างไรดี
ในปีพุทธศักราช 2559 สภาพอากาศร้อนมากกว่าทุกปี กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมรับอุณหภูมิที่จะสูงถึง 42-44 องศาเซลเซียส แล้วก็เป็นจริงตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือน ตามทฤษฏีแพทย์แผนไทย ฤดูร้อนเป็นเวลาแห่งธาตุไฟกำเริบ จึงกระทบธาตุทั้ง 3 ของร่างกาย ได้แก่ ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ให้กำเริบเช่นกัน ทั้งนี้ เพราะร่างกายมนุษย์มีการควบคุมสมดุลภายใน เพื่อให้เหมาะสมกับความร้อนของอากาศภายนอก เมื่อใดที่ร่างกายควบคุมสมดุลได้ดีเราก็จะรู้สึกสบาย ตรงกันข้ามถ้าควบคุมไม่ดี เราก็จะรู้สึกไม่สบายตัว ร้อนข้างใน หงุดหงิด หรือมีไข้ได้
เมื่อเวลาหมุนเปลี่ยนไปก็ย่างเข้าสู่ฤดูฝน เป็นเวลาแห่งธาตุลมหย่อน จะกระทบธาตุทั้ง 3 ของร่างกาย สาเหตุเกิดจากสภาพร่างกายเดิมอยู่ในภาวะร้อน เมื่อกระทบกับอากาศเย็นที่เข้ามาแทนที่อากาศร้อนจัด ทั้งมีความชื้นเจือเข้ามาด้วย จะทำให้เกิด 2 สภาวะในร่างกายคือ “ไฟกำเริบ” และ “ลมหย่อน” ร่างกายจะแปรปรวน เนื่องจากลมที่หย่อนดับความร้อนได้น้อย เกิดอาการไข้ เรียกว่า “ไข้เปลี่ยนฤดู” คำว่า ไข้เปลี่ยนฤดู ตามหลักแพทย์แผนไทยมี 3 ลักษณะ ดังนี้
๑. ไข้เพื่อเสมหะ (หมายถึง ไข้ที่เกิดจากธาตุน้ำเป็นเหตุ) มักเกิดเวลาเช้าถึงสาย มีอาการหนาว ขนลุก อ่อนเพลีย ปากหวาน ปัสสาวะสีขาวใส น้ำมูกและเสมหะจะเกิดเฉพาะเวลาเช้า เมื่อสายอากาศอุ่นขึ้นก็หายไป แต่จะเกิดน้ำมูกและเสมหะได้อีกครั้งในเวลาเย็น
๒. ไข้เพื่อปิตตะ(หมายถึง ไข้ที่เกิดจากธาตุไฟเป็นเหตุ) มักเกิดช่วงเวลาสายๆ ถึงบ่าย มีอาการปากขม ตัวร้อน เพ้อ ปวดหัว กระหายน้ำ นอนไม่หลับ ปัสสาวะสีออกแดง
๓. ไข้เพื่อวาตะ (หมายถึง ไข้ที่เกิดจากธาตุลมเป็นเหตุ) มักเกิดเวลาบ่ายถึงเย็น มีอาการเวียนหัว ขนลุกขนชัน รู้สึกอึดอัดบริเวณหน้าอก กระหายน้ำ เกิดลมเป็นก้อนในท้อง ไอแห้ง
ยาที่ใช้รักษาไข้ทั้ง 3 แบบจะแตกต่างกันดังนี้
๑. ไข้เพื่อปิตตะ(ไฟ) เหตุเกิดจากธาตุไฟมีมากเกินไป อาการที่บ่งชี้คือ มีไข้ ตัวร้อน ไอแห้ง ไม่มีเสมหะ วิธีรักษาจึงต้องใช้ยาเย็นเพื่อดับร้อน เช่น ใบหญ้านาง ใบหญ้านางแดง ใบบัวบก หญ้าเกล็ดหอย หรืออาจใช้ยาสามัญประจำบ้านสำหรับแก้ไข้ เช่น ยาเขียวหอม ยามหานิลแท่งทอง ยาประสะจันทร์แดง ยาแสงหมึก ยาจันทลีลาก็ได้เช่นกัน สิ่งสำคัญคือ ห้ามกินยาร้อน ห้ามกินอาหารรสร้อน เช่น ขิง โดยเฉพาะหลังช่วงเวลา ๑๐.๐๐ น. ถึง ๑๔.๐๐น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไข้จะขึ้น จึงควรกินยาแก้ไข้ในช่วงเวลานี้
๒. ไข้เพื่อเสมหะ(น้ำ) เหตุเกิดจากธาตุไฟน้อยเกินไป ทำให้เกิดภาวะธาตุน้ำ(เสมหะ) มาก
จึงมีน้ำมูก อาการที่บ่งชี้คือ มีไข้ต่ำๆ หนาวๆร้อนๆ มีน้ำมูกและเสมหะ เหนื่อยง่าย ควรใช้ยาร้อนเพิ่มไฟ เพื่อกำจัดน้ำส่วนเกิน (เสมหะ) ออกไป เช่น น้ำขิง และใช้ยารสเปรี้ยวเพื่อขับเสมหะเช่น ประสะมะแว้ง ยาแก้ไอมะขามป้อม ตรีผลา ยาแก้ไอผสมกานพลู เมื่อมีอาการดังที่กล่าวมานี้ ห้ามกินยาเย็น เช่น ฟ้าทะลายโจร ให้กินอาหารรสร้อน และควรกินยาแก้อาการในช่วงเวลา 6.00 น.ถึง 10.00 น. ซึ่งมักมีเสมหะมาก โดยหลังช่วงเวลานี้เสมหะจะค่อยๆ ลดลง
๓. ไข้เพื่อวาตะ(ลม) เหตุเกิดจากธาตุลมหย่อน มักมีอาการมึนงง วิงเวียน แก้ได้ด้วย ยาหอม ซึ่งมีขายแพร่หลายในท้องตลาด เป็นยาที่กล่าวได้ว่าคนไทยแทบทุกคนรู้จักใช้ อาการวิงเวียนมักเกิดในช่วงเวลา 14.00 น. เป็นต้นไป จึงควรกินยาหอมในเวลานี้
นอกจากนี้ยังมียาอีกขนานหนึ่งซึ่งเป็นยาปรับธาตุประจำฤดูฝนชื่อ “ตรีกฏุก” ประกอบด้วย เหง้าขิง เมล็ดพริกไทย ดอกดีปลี ในน้ำหนักยาที่เท่ากัน ควรกินช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน
ทั้งนี้ ผักที่เกิดตามฤดูกาล ก็สามารถปรับธาตุตามฤดูได้เช่นกัน เช่น ดอกแค ดอกโสน สะเดา เป็นต้น
ปีพุทธศักราช 2559 เป็นปีที่ฤดูร้อนร้อนมากกว่าทุกปี การเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน ธาตุทั้ง 3 ในร่างกาย คือ ธาตุลม ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ต้องปรับสมดุลมากจึงมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยได้ง่าย เราจึงควรใส่ใจการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและหมั่นดูแลตนเองโดยการปรับธาตุไม่ว่าโดยอาหารหรือยาสมุนไพรก็ตาม เพราะถ้าเราดูแลสุขภาพในช่วงเปลี่ยนฤดูได้อย่างดีแล้ว ธาตุทั้ง 3 จะปรับสมดุลได้อย่างสมบูรณ์เพื่อรับสภาพอากาศในฤดูฝน จึงไม่เกิดอาการเจ็บป่วยร้ายแรง เช่น เจ็บคอ คออักเสบ ติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นต้น และทำให้มีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อ นี่คือหลักปฎิบัติเบื้องต้นเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย และทำให้เรามีสุขภาพที่แข็งแรงในช่วงเปลี่ยนฤดู<
ขอบคุณสำหรับภาพประกอบ (บทความนี่จัดทำขึ้นเพื่อการเผยแพร่ให้ความรู้ โดยไม่แสวงผลกำไร)
ข้อมูลรูปภาพ http://pantip.com/topic/32181744
http://ranrarorn.srianant.com/