รู้เท่าทันสันนิบาตฤดู : การดูแลสุขภาพช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ในประเทศไทยแบ่งฤดูกาลเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝนและฤดูหนาว
ใน 1 ปี มี 12 เดือน แต่ละฤดูกาล จึงมีกำหนดระยะเวลา 4 เดือน เท่าๆ กัน เริ่มต้นเดือนเมษายน ถึง กรกฎาคม เป็นเวลาแห่งฤดูร้อน เดือนสิงหาคม ถึงพฤศจิกายน เป็นเวลาแห่ง ฤดูฝน เดือนธันวาคมถึงมีนาคม เป็นเวลาแห่งฤดูหนาว
ในฤดูร้อน อากาศจะร้อน จนครบระยะเวลา 4 เดือน ก็ย่างเข้าฤดูฝน ฝนจะเริ่มตก อากาศร้อนจะลดลง ความเย็นและความชื้นเข้ามาแทนที่ และเมื่อครบระยะเวลา 4 เดือน ก็ย่างเข้าฤดูหนาว ฝนหยุดตกความชื้นจะหายไป อากาศเย็นเข้าแทนที่ จนครบ 4 เดือน
ถ้าฤดูกาลเป็นไปตามกำหนด ระยะเวลา 4 เดือน ของแต่ละฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงของอากาศก็อยู่ในภาวะปกติของแต่ละฤดูกาล แต่ยังมีอีกสภาวะหนึ่งที่ไม่ปกติ มีความแปรปรวนของระยะเวลาในแต่ละฤดูกาลต่างๆ ดังนี้ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ อาจจะเป็น 1 วัน หรือมากกว่านี้เล็กน้อย เกิดปรากฏการณ์ 3 ฤดูขึ้นพร้อมกัน คือ อากาศร้อน มีฝนตก และมีอากาศเย็นเข้าแทรก ซึ่งทางแพทย์แผนไทยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า สันนิบาตฤดู ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วในช่วงปลายปี พ.ศ. 2560 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2561 ได้เกิดปรากฏการณ์สันนิบาตฤดูหลายครั้ง
คำถามคือสันนิบาตฤดู มีผลกระทบต่อความเจ็บป่วยของร่างกายมนุษย์อย่างไรบ้าง
โดยทฤษฏีการแพทย์แผนไทย
ฤดูร้อน สาเหตุของการเจ็บป่วย คือ ธาตุไฟ
ฤดูฝน สาเหตุของการเจ็บป่วย คือ ธาตุลม
ฤดูหนาว สาเหตุของการเจ็บป่วย คือ ธาตุน้ำ
กรณีที่แต่ละฤดูกาลเป็นตามกำหนดเวลา 4 เดือน ก็จะมีเหตุของการเกิดโรคเพียงธาตุเดียว การปรับสมดุลของร่างกายก็จะสามารถปรับให้เข้ากับแต่ละฤดูกาลได้ง่าย ไม่ซับซ้อน มนุษย์ก็สามารถดำรงชีวิตเป็นปกติได้จนครบ 4 เดือน จึงจะมีการปรับสมดุลของร่างกายอีกครั้งเพื่อให้สมดุลกับฤดูกาลถัดไป จะเป็นเช่นนี้จนครบ 3 ฤดู ในรอบ 1 ปี
แต่ถ้าเกิดภาวะสันนิบาตฤดู เหตุของการเกิดโรคมีถึง 3 ธาตุ คือ ธาตุไฟ, ธาตุลม, ธาตุน้ำ ทำให้การปรับสมดุลของร่างกายเพื่อให้สมดุลกับสันนิบาตฤดู ยากขึ้นถึง 3 เท่า คือต้องปรับสมดุลถึง 3 ธาตุ พร้อมๆกัน
ดังนั้น คนที่สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวจะสามารถปรับสมดุลของร่างกายได้ดี ไม่เจ็บป่วย แม้เจ็บป่วยก็มีอาการเล็กน้อย ส่วนคนที่สุขภาพไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคภูมิแพ้ หอบ หืด ผู้สูงอายุและเด็กจะเจ็บป่วยได้ง่าย
สำหรับการดูแลสุขภาพเมื่อเกิดปรากฏการณ์สันนิบาตฤดู สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ
- ใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลว่าเป็นปกติ หรือเกิดสันนิบาตฤดู
- เมื่อเกิดสันนิบาตฤดู อากาศ ร้อน เย็น ชื้น หนาว มากระทบร่างกายพร้อมกัน ซึ่งเป็น
ส่วนภายนอกร่างกายก็ต้องป้องกันการกระทบเหล่านี้ เช่น อย่าตากฝน ใส่เสื้อผ้าหนา
ให้ร่างกายอบอุ่น อากาศร้อนก็สวมใส่เสื้อผ้าให้พอเหมาะกับอากาศที่ร้อน
- การกินอาหาร จะช่วยปรับสมดุลร่างกายให้สมดุลรับกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ได้ดีขึ้น และลดการเจ็บป่วย ดังนี้
– ฤดูร้อน เหตุของการเกิดโรค คือ ธาตุไฟ อาการมักมีไข้ ตัวร้อน ปาก
แห้ง คอแห้ง กระหายน้ำ ผักและสมุนไพรที่ควรกินต้องมี รสเย็น หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของ ผัก สมุนไพรรสเย็น เช่น ผักบุ้ง แตงกวา ตำลึง ผักกาดขาว ฟัก บวบ ไช้เท้า มะระ ใบย่านาง ใบบัวบก มะระขี้นก งดผักที่มีรสร้อน เช่นคะน้า แครอท กะหล่ำปลี เป็นต้น ตัวอย่างอาหาร เช่น แกงจืด หรืออาหารรสจืดต่างๆ
– ฤดูฝน เหตุของการเกิดโรคคือ ธาตุลม มีอาการวิงเวียน เหนื่อยง่าย มี
น้ำมูก ผักและสมุนไพรที่ควรกินต้องมีรสร้อน หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรรสร้อน เช่น กะเพรา ตะไคร้ ขิง ข่า กระชาย โหระพา พริก เป็นต้น ตัวอย่างอาหาร แกงส้ม แกงกะทิ ต้มยำ ผัดเผ็ด
– ฤดูหนาว เหตุของการเกิดโรคคือ ธาตุน้ำ มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ ไอ มีเสมหะ ผักและสมุนไพรที่ควรกินต้องมีรสเปรี้ยว ควรกินอาหารที่มีส่วนประกอบของผัก ผลไม้ ที่มีรสเปรี้ยวร่วมด้วย เช่น มะนาว มะขามเปียก มะดัน มะม่วงเปรี้ยว เป็นต้น ตัวอย่างอาหาร ยำชนิดต่างๆ
นอกจากนี้ควรสังเกตและเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่ได้กล่าวมาข้างต้น และพิจารณาเลือกกินอาหารให้เหมาะกับสภาพร่างกาย
คำถามคือ เมื่อเกิดสันนิบาตฤดู เหตุของการเกิดโรคมีถึง 3 ธาตุ ธาตุน้ำ, ธาตุลม, ธาตุไฟ ร่วมกัน การกินอาหารเพื่อปรับสมดุลธาตุของร่างกายเพียงอย่างเดียว คงไม่พอต้องกินยาสมุนไพรเพื่อช่วยปรับสมดุลธาตุของร่างกายร่วมด้วย
เมื่อสาเหตุของการเจ็บป่วยมีถึง 3 ธาตุ ธาตุน้ำ, ธาตุลม, ธาตุไฟ ผลกระทบต่อสมดุลของร่างกายมนุษย์แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนมีธาตุเจ้าเรือน และจุดอ่อนของร่างกายที่แตกต่างกัน ทั้งวัยก็ยังแตกต่างกันด้วย ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่แตกต่างกัน จึงรักษาตามอาการที่เกิด ดังนี้
บุคคลที่เป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืด จะได้รับผลกระทบของสันนิบาตฤดูมากที่สุด อาการมักกำเริบมีน้ำมูล ไอ จาม เพราะร่างกายมีภาวะเย็น คือ ธาตุไฟหย่อน จึงต้องกินอาหารรสร้อนและควรกินยาปรับธาตุฤดูฝน ประกอบด้วยสมุนไพร 3 ชนิดคือ ขิง พริกไทย ดีปลี หรือจะใช้ขิง เหง้าตะไคร้ ดีปลี ก็ได้ ใช้ยาแก้ไอขับเสมหะมีขายตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาแก้ไอมะขามป้อม ยาแก้ไอรสบ๊วย ยาแก้ไอกานพลู เป็นต้น หรือน้ำผักสมุนไพรรสเปรี้ยวช่วยขับเสมหะได้ เช่น น้ำมะนาว น้ำกระเจี๊ยบ น้ำบ๊วย
สำหรับผู้สูงอายุ จุดอ่อนของร่างกาย คือ ธาตุลม จึงควรกินยาหอม เพื่อปิดจุดอ่อนของร่างกาย ทำให้การปรับสมดุลของธาตุลม ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ดีขึ้น โดยกินร่วมกับยาสมุนไพรชนิดอื่นๆได้
นอกจากนี้ ยังมีสันนิบาตฤดูอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า สันนิบาตฤดูเทียม ไม่ได้เกิดจากภาวะผิดปกติของภูมิอากาศ แต่เกิดจากมนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น ในฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัด แต่มนุษย์ทำงานในห้องปรับอากาศที่เย็นจัด นอนในห้องปรับอากาศที่เย็นจัด เดินเที่ยวในห้างสรรพสินค้าที่เย็นจัด เมื่อเสร็จภารกิจก็ออกมานอกห้องที่อากาศร้อนจัด แล้วกลับเข้าไปในห้องปรับอากาศที่เย็นจัดอีกครั้ง ร่างกายกระทบเย็น และร้อน ในระยะเวลาสั้นๆ ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทุกๆ วัน ร่างกายต้องปรับสมดุลร้อน เย็น กลับไป กลับมา เกิดการเจ็บป่วย มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกาย
สิ่งที่ควรป้องกันได้คือ ตั้งอุณหภูมิในห้องปรับอากาศให้แตกต่างกับสภาวะอากาศร้อนตามธรรมชาติไม่มากจนเกินไป แต่ควรตั้งอุณหภูมิเท่าไรจึงจะเหมาะสม ไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่นอน คงต้องใช้ความรู้สึกสบายๆ เป็นตัวกำหนด เช่น อุณหภูมิของอากาศสูงเกือบ 40 องศา ควรตั้งอุณหภูมิห้องปรับอากาศประมาณ 26-28 องศา เป็นต้น หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากในที่ทำงานใช้ระบบปรับอากาศร่วมกัน ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิดเพื่อรักษาความอบอุ่นของร่างกาย ไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งรู้สึกหนาวเย็นจนเกินไป ซึ่งจะทำให้เป็นหวัดได้
โดย : พท.สุนทรี พีรกุล เวชกรรมไทย, เภสัชกรรมไทย
บรรณาธิการ พาฝัน รงศิริกุล