Pages Navigation Menu

สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา

ยาฝนยาต้ม

• ยาฝน คือ สมุนไพรที่ใช้รักษาโรคด้วยวิธีการนำตัวยามาฝนกับน้ำกระสายแล้วให้ผู้ป่วยดื่ม ทาบริเวณที่มีอาการ ยาฝนที่ใช้รักษาโรคมักจะเรียกว่า ยาแก้ เช่น ยาฝนแก้กินผิดสาบผิด ยาฝนแก้ตุ่มแก้คัน ยาฝนแก้สันนิบาต ยาฝนแก้ขาง ยาฝนแก้ฝี ยาฝนแก้อีสุกอีใส ยาฝนแก้มะเฮ็งคุด ยาฝนแก้ลมบ้าหมู ยาฝนแก้นิ่ว ยาฝนแก้ห้ามฮาก (อาเจียน) ยาฝนตัดฮากสาน ยาฝนแก้ไข้ ยาฝนแก้มะโหก ยาฝนแก้ถอนพิษ เป็นต้น
ยาฝนแต่ละป้าก (ตำรับ) จะมีตัวยามากน้อยตามกัน ดังตัวยาแก้ห้าต้น ประกอบด้วยตัวยา ๕ ชนิด คือ หญ้าหมูป่อย เถาแตงเถื่อน หนาดคำ จุ่งจะลิง และดีงูหว้า ในอดีตชาวล้านนามักจะฮิบยาฝนไว้ประจำบ้านหรือติดตัวไปตามที่ต่างๆ หากมีผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถฝนยารักษาได้ทันท่วงที เรียกว่า ยาแก้ทันใจ

๑. ก้อนหินมีผิวหยาบขนากพอเหมาะ ใช้สำหรับฝนยา ๑ ก้อน
๒. ภาชนะสำหรับใส่น้ำยาฝนที่ทำจากไม้ เรียกว่า รางไม้ ๑ อัน หรือแก้วน้ำก็ได้
๓. ภาชนะสำหรับใส่ตัวยา เมื่อฝนยาเสร็จแล้ว เพื่อผึ่งแดดผึ่งลมให้แห้งก่อนเก็บใส่ถุง
๔. ขวดหรือกระปุกน้ำสำหรับใส่น้ำยาฝน
๕. ตัวยาแต่ละป้าก (ตำรับ)

๑.เมื่อหมอเมืองได้ฟังอาการและตรองโรคผู้ป่วยแล้ว จะขึ้นขันตั้งเพื่อบอกกล่าวและขอพรจากครูบาอาจารย์ให้รับทราบและมาช่วยรักษา
๒.นำน้ำกระสายยาฝน ได้แก่ ข้าวจ้าวสาร หรือน้ำเปล่าก็ได้ พอประมาณใส่ในรางไม้หรือแก้วน้ำ
๓.ลงมือฝนตัวยาทีละชนิด โดยเริ่มจากตัวยาที่มีสรรพคุณเด่นในป้ากนั้นก่อน เรียกว่า ขอนำยา แล้วจึงค่อยฝนตัวยาอื่นต่อไป หากจะให้ประหยัดตัวยา ไม่ควรนำตัวยาชุบน้ำกระสายยา แต่ควรนำก้อนหินชุบน้ำกระสายยาแทน
๔.เมื่อฝนเสร็จแล้ว หมอเมืองจะนำน้ำยาฝนที่ได้มาเสกคาถากำกับอีกทีหนึ่งแล้วจะเทใส่ขวด หรือกระปุดน้ำให้ลูกเลี้ยง (คนไข้) นำไปใช้ดื่มหรือทา โดยสามารถดื่นแทนน้ำเปล่าได้
๕.ตัวยาที่ฝนแล้วจะนำไปผึ่งแดดผึ่งลมให้แห้งสนิท แล้วเก็บใส่ถุง หากยังไม่แห้งอย่ารีบใส่ถุง เพราะจะทำให้เกิดเชื้อรา และตัวยาจะเสื่อมสรรพคุณ

เป็นการต้มเพื่อให้ได้ตัวยาสมุนไพรใช้ดื่มรักษาโรค เช่น แก้ปวดหลัง ปวดเอว บำรุงร่างกาย เพิ่มพลัง เป็นต้น ยาต้มบางป้าก (ตำรับ) ก็ใช้ตัวยาสด บ่างป้ากก็ใช้ตัวยาแห้ง แต่ละป้ากจะมีตัวยาต่างกัน

การฮิบยาต้ม
๑.เมื่อทำการพลียาและฮิบยาได้ความต้องการแล้ว นำมาล้างให้สะอาด
๒.หั่นหรือตัดตัวยาเป็นท่อนๆให้ได้ขนาดพอเหมาะแล้วนำไปตากให้แห้ง
๓.นำตัวยาแต่ละชนิดมาจัดให้เป็นป้าก (ตำรับ) แล้วมัดรวมกันให้ได้ขนาดพอเหมาะ
๔.นำตัวยาที่มัดได้ป้ากแล้วเก็บใส่ถุงหรือกล่องไว้ให้มิดชิด

วิธีต้มยา
๑.ดังไฟ (ก่อไฟ) แล้วตั้งหม้อดินพร้อมใส่น้ำพอประมาณแล้วใส่ตัวยาสมุนไพรบางตำรากำหนดต้ม ๖ เอา ๓ หรือ ๓ เอา ๑ หากไม่มีหม้อดินสามารถใช้หม้อแกงตอง (หม้อทองเหลือง) หม้อเคลือบ หม้อแสตนเลสก็ได้ แต่ห้ามใช้หม้อเหล็กหรือสังกะสี
๒.ต้มยาสมุนไพรให้เดือดเพื่อให้ได้ตัวยา ยาต้มบางป้ากมีสีแดงหรือสีอื่นแล้วแต่สถานะของตัวยา
๓.ยาต้มบางป้าก ต้มดื่มได้ครั้งเดียว บางป้ากสามารถต้มดื่มได้ ๒-๓ ครั้ง หรือต้มหลายครั้งจนมีรสจืดก็ได้

การใช้ยาต้ม
๑. นำยาต้มที่ได้มาดื่ม โดยอาจดื่มในขณะที่อุ่นหรือเย็นก็ได้
๒. บางคนอาจจะเก็บใส่ขวดหรือกระปุกไว้ดื่มแทนน้ำดื่มปกติก็ได้

ข้อห้ามในการต้มยา
๑.ห้ามใส่ฟืนหลายด้าน ให้ใส่ด้านเดียว (ไม่ให้ข้ามก้อนเส้า)
๒.ห้ามใช้หม้อสังกะสีหรือหม้อเหล็ก
๓.ห้ามเอายาข้ามคืนมาต้มซ้ำ

468 ad