Pages Navigation Menu

สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา

การวางยารักษาโรคตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย

*** การวางยารักษาโรคตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย ***

                                การรักษาอาการเจ็บป่วยของคนไข้ หมอจะต้องตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสมุฏฐานของโรคให้ถูกต้องแม่นยำ และจะต้องวางยารักษาให้ตรงกับโรคและอาการข้างเคียงของโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ ผลการรักษาจึงจะทำให้คนไข้หายจากโรคได้  ซึ่งหลักการวางยาที่แพทย์แผนไทยควรศึกษาและทำความเข้าใจให้ท่องแท้มีอยู่ 4 หลัก คือ

 

 

  1. ยารุ หมายถึง การใช้ยาถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ถ่ายดี ลม เสลด (ปิตตะ วาตะ เสมหะ)
  2. ยาล้อม   หมายถึง  การใช้ยารักษาอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น
  3. ยารักษา   หมายถึง   การใช้ยารักษาอาการของโรคที่เป็นอาการหลัก
  4. ยาตัดราก หมายถึงการใช้ยาบำรุงอวัยวะต่างๆ ที่ป่วยเป็นโรคให้ฟื้นคืนสภาพไม่ให้กลับมาเป็นใหม่

หลัก 4 หลักนี้ ผู้ที่เป็นแพทย์แผนไทยควรจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้  และพิจารณาตัดสินใจว่าจะใช้หลักใดบ้างในการรักษาคนไข้  ในคนไข้บางคนที่เป็นโรคยังไม่มาก (โรคไม่ลึก) อาจใช้เพียงหลักยารักษาเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอ เช่น เป็นไข้หวัดไข้เปลี่ยนฤดูก็ให้แก้ไข้ชื่อยาจันทลีลาก็เพียงพอ แล้ว แต่ถ้าเป็นโรคมากแล้ว (โรคลึก) เช่น โรคกษัยปู (โรคกรดไหลย้อน) การวางยารักษาต้องใช้หลักที่ 1 ให้ยารุเพื่อถ่ายของเสียที่ตกค้างในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดแก๊สเกิดลม ออกเสียก่อนโดยใช้ยาถ่ายชื่อ ยาธรณีสัณฑฆาต หรือยาถ่ายอื่น แล้วใช้หลักที่ 2 ใช้ยาล้อมอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น คือ อาการท้องอืดแน่นเฟ้อจุกเสียดโดยใช้ยาขับลมแก้กษัยจุกเสียดชื่อ ยาประสะเจตพังคี หรือยาขับลมอื่น และใช้หลักที่ 3 คือให้ยารักษาแผลในกระเพาะอาหารซึ่งเป็นยาฝาดสมานแผลชื่อ ตรีทิพย์คุณ (ถ้าไม่มีใช้ขมิ้นชันแทน) ส่วนหลักที่ 4 ยาตัดรากไม่จำเป็นต้องให้เพราะยารุเป็นยาตัดรากในตัวอยู่แล้ว

หวังว่าแนวทางการวางยารักษาโรคตามทฤษฎีแพทย์แผนไทยนี้ จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาและสนใจและนำไปใช้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่อไป

                                                                                                                                                                                                                                                                        วัลลภ  เผ่าพนัส
แพทย์แผนไทย บ.ภ. พท.ว. พท.น.
ประธานสมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา

468 ad