Pages Navigation Menu

สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา

การย่ำขาง

• ย่ำขาง เป็นวิธีการบำบัดรักษาโรคภัยไข้เจ็บแบบพื้นบ้านล้านนาอีกประเภทหนึ่ง โดยมากใช้สำหรับบำบัดหรือรักษาอาการเจ็บปวดตามร่างกาย โดยใช้เท้าชุบน้ำยา(น้ำไพลหรือน้ำมันงา) แล้วไปย่ำลงบนขางที่เผาไฟจนร้อนแดง แล้วจึงไปย่ำบนร่างกายหรืออวัยวะของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด พร้อมทั้งเสกคาถาอาคมกำกับด้วย ในอดีตหมอเมืองจะใช้เท้าย่ำรักษาส่วนต่างๆของร่างกายรวมทั้งศีรษะด้วย แต่ต่อมามีการปรับเปลี่ยนเป็นใช้มือหรือลูกประคบนวดในส่วนของศีรษะแทน ส่วนอื่นๆ ของร่างกายยังคงใช้เท้าย่ำเหมือนเดิม หมอเมืองที่รักษาด้วยการย่ำขาง เรียกว่า หมอย่ำขาง
 
คำว่า “ขาง” เป็นโลหะเหล็กผสมพลวงที่นำไปหล่อเป็นใบขาง(ผาลไถ สำหรับใช้ไถนา ขนาดประมาณ ๘ *๖ นิ้ว ปลายแหลม) เนื่องจากขางเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการไถนาที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เชื่อกันว่ามีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ เพราะสามารถไถนาปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งโลกได้ อีกทั้งมีคุณสมบัติไม่เป็นสนิมง่ายและในตัวขางมีแร่ธาตุบางชนิดที่เป็นตัวยาสามรถใช้รักษาโรคได้ ในสมัยก่อนหากเด็กมีอาการเจ็บปากเจ็บลิ้น จะนำขางที่เผาแล้วไปแช่น้ำให้เด็กดื่ม ทำให้อาการเจ็บป่วยนั้นหายได้ หมอเมืองบางคนเชื่อว่า ความร้อนจากขางจะทะลุทะลวงเข้าไปในร่างกายผู้ป่วยได้ลึกกว่าการใช้โลหะอย่างอื่น
 

ในอดีตการใช้ขางรักษาโรคมีหลาย วิธีดังนี้

                ๑.ย่ำขาง คือการเอาเท้าชุบน้ำยา(น้ำไพลหรือน้ำมันงา) แล้วไปย่ำหรือวางบนขางที่เผาจนร้อนแดงแล้ว ไปย่ำบริเวณร่างกายผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด การรักษาด้วยวิธีนี้ยังมีอยู่ในปัจจุบัน

                ๒.ปึ๊ขาง คือ การเป่าหรือการพ่นน้ำยา (น้ำไพลหรือน้ำมันงา) ลงบนขางที่เผาจนร้องแดง ทำให้ไอน้ำพุ่งไปประทะกับร่างกายผู้ป่วย บริเวณที่มีอาการเจ็บปวด

                ๓.จู้ขาง คือ การเอาห่อยาสมุนไพรชุบน้ำยา (น้ำไพลหรือน้ำมันงา) มาวางบนขางแล้วเอาไปประคบบริเวณร่างกายผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด

กลุ่มอาการหรือโรคที่สามารถบำบัดรักษาด้วยวิธีการย่ำขาง ได้แก่

๑ .กลุ่มอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดเอ็น ปวดข้อ ปวดกระดูกซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากความไม่สมดุลของธาตุหรือจากสิ่งที่เกิดแต่ป่า ไม่สามารถมองเห็นได้ เรียกว่า โป่ง ทำให้มีอาการปวดบวม เป็นก้อน หรือมีสาเหตุมาจาก สิ่งที่เกิดแต่น้ำ เรียกว่า ยำ ทำให้มีการปวด คัน ผิวหนัง แดงร้อน เป็นตุ่มพุพอง นอกจากนั้นยังมีสาเหตุมาจากการทำผิดต่อผีปู่ย่า (ผีบรรพบุรุษ ) ผีเจ้าที่ การลืมแก้บน และการถูกคุณไสย
๒.กลุ่มอาการชาที่มักเกิดที่มิ เท้า ขา เอว ซึ่งหมอย่ำขางเชื่อว่าเกิดจากเลือดลมในร่างกานไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้เส้นเลือดตีบ การย่ำขางสามารถขยายเส้นเลือดและรักษาได้
 ๓. กลุ่มอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต เชื่อกันว่า เป็นอาการที่สืบเนื่องมาจากการปวด ซึ่งเกิดจากธาตุลมเข้าแทรก ทำให้เส้นตึงแข็ง หากปล่อยไว้นาน จะทำให้เสียเส้นเป็น อัมพฤกษ์ ถ้าปล่อยไว้นานเกินไปจะเสียแบบถาวร กลายเป็นอัมพาต ทำให้ต้องใช้เวลายาวนานใจการรักษา จึงจะทุเลาเบาบาง หรือบางรายอาจจะไม่สามารถรักษาให้หายได้

ข้อห้าม
สำหรับการย่ำขาง ห้ามใช้รักษาผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ มีประจำเดือน ผู้ที่เพิ่งผ่าตัดใหม่ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคมะเร็ง (เพราะความร้อนจะทำให้มะเร็งกระจายตัวได้เร็วขึ้น) โรคปอด โรคหืด และผู้ป่วยที่มีไข้ขึ้นสูง
ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโดยวิธีย่ำขางจะต้องยึดถือข้อห้ามที่หมอย่ำขางบอกกล่าว เพื่อให้อาการเจ็บป่วยหายเร็วขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาการกินที่หมอย่ำขางเชื่อว่าเป็นของแสลงซึ่งจะทำให้ ผู้ป่วยมีอากานเจ็บปวดและจะกลับมาเป็นซ้ำอีก ได้แก่ หน่อไม้ ผักชะเอม บอน ทุเรียน ไข่ เนื้อไก่ เนื้อวัว ปลาไหล ของหมักดอง อาหารทะเล หอย ปลาไม่มีเกล็ด และกบ

อุปกรณ์การย่ำขาง ประกอบด้วย

๑.ขาง ๑ อัน                ๕.เสื่อสำหรับปูนอน ๑ ผื่น    

๒.เตาอั้งโล่ ๑ เตา      ๖.หมอน ๑ ใบ

๓.ถ่านไฟ ๑ ถุง         ๗.ผ้าสำหรับคลุมร่างกายผู้ป่วย ๑ ผื่น

๔.น้ำปูเลย(ไพล) ๑ ขัน   

วิธีการรักษา

 

 สำหรับขั้นตอนการรักษาและขันตั้งในการย่ำขางของหมอย่ำขางแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปและบางคนอาจจะมีกรรมวิธีอย่างอื่นเพิ่มเติมทั้งก่อนและหลังการย่ำขางก็ได้ แต่โดยทั่วไปสามารถสรุปได้ดังนี้
๑. เมื่อหมอย่ำขางตรองโรค (วินิจฉัยโรค) แล้ว ก็จะเตรียมขันตั้งก่อน ประกอบด้วย สวย (กรวย) ใส่หมากและเทียน ๑ คู่ จำนวน ๑๘ อัน,สวยใส่พลูและเทียน ๑ คู่ จำนวน ๑๘ อัน,ข้าวสารและข้าวเปลือกอย่างละ ๑ กระทงเล็ก,น้ำส้มป่อย,เทียนเล่มบาท ๔ คู่,เทียนเล่มเฟื้อง ๔ คู่,ผ้าขาง ผ้าแดงอย่างละ ๑ ชิ้น,หินสีขาว ๙ ลูก,หมากหัวพลูมัด ๑ พวง (ใบพลู ๖ ใบ เรียงซ้อนกันเป็นแถบ ทั้งหมด ๙ แถบแล้วก็มัดกับพวงหมาก),และเงินค่าขันครู ซึ้งผู้ป่วยจะจัดใส่ในพาน
  ๒. นอกจากนั้นจัดเตรียมอุปกรณ์ย่ำขาง โดยนำใบขางไปเผาไฟ ที่ตั้งอั้งโล่จนร้อนแดงก่อน (สังเกตจากใบขางด้านล่างจะแดง ด้านบนจะขาวหม่น) ในระหว่างนั้นเตรียมน้ำยา(น้ำไพลหรือน้ำมันงา) ที่ใช้ในการย่ำขาง และเอาผ้าคลุมร่างกายผู้ป่วย เพื่อกันเปื้อน กันอุจาด และไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกอาย  
๓. เมื่อพร้อมแล้ว ยกขันตั้งอันเชิญครูบาอาจารย์ก่อน แล้วก็สวาดธิยายคาถาโมคคัลลานะ ดับพิษดับเปลวไฟใส่น้ำยาที่เตรียมไว้ (น้ำมันไพลหรือน้ำมันงา) หมอย่ำขางแต่ละคนจะมีคาถาแตกต่างกันที่ได้รับสืบทอดมา เช่น
“อมอะสุกุโมกะลาน อมบังไฟแดง อุ่งแสงไฟอ่อน ต้อนไฟแดง กูจักจกไฟเย็นหื้ออ่อน อ่อนเหมือนน้ำเย็นใส กูจักกิ๋นได้ อมไฟแสง แดงไฟต้อน กูจักตัดฮ้อนเป็นเย็น เย็นเหมือนดั่งแม่น้ำคงคา กูจักมนต์หินผาหื้อแตก หื้อแยกเหมือนดั่งน้ำมหาสมุทร เย็นเนอ เย็นเนอ มหาโมกกะลานเจ้า จุ่งดับปิ๊ดฮ้อน จุ่งดับปิ๊ดเปล๋ว อมสวาหะ ดับ ดับ”
๔. เมื่อขางร้อนจนแดงแล้ว ก็เริ่มการรักษาด้วยการเอาเท้าจุ่มน้ำยา แล้วย่ำลงบนขางแล้วมาย่ำบนร่างกายหรืออวัยวะของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด
๕. ทำซ้ำหลายๆครั้ง หรืออาจใช้เวลานานพอประมาณ หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกทุเลาจากนั้น จึงปลดขั้นตั้ง เป็นเสร็จพิธี

 

468 ad