Pages Navigation Menu

สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา

การย่างแคร่

 

• การย่างแคร่
การย่างแคร่หรือการย่างไฟนั้น ในสมัยโบราณมักจะทำให้กับหญิงหลังคลอด เพื่อเป็นการป้องกันอาการเจ็บป่วยที่จะตามมา หรือที่เรียกว่า อาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว หรือบางทีเรียกว่าโรคลมผิดเดือน แต่ในสมัยนี้ไม่ได้นิยมกันเฉพาะหญิงหลังคลอดเท่านั้น แต่ยังนิยมกันในคนปกติที่ต้องการผ่อนคลาย บรรเทาความปวดเมื่อยตามร่างกาย ความเหนื่อยล้าจากการทำงาน และอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ เช่น หกล้ม ตกต้นไม้ แล้วทำให้เกิดเลือดคลั่ง เลือดตกใน เพราะการย่างแคร่หรือย่างไฟนั้น เป็นการใช้ความร้อนแห้งแบบห้องอบซาวน์น่าสมัยใหม่ ซึ่งนอกจากจะใช้ความร้อนแล้วยังมีไอของสมุนไพรที่เป็นยาอยู่ด้วย โดยไอความร้อนและไอของสมุนไพรจะช่วยกระจายเลือดลมช่วยให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายดีขึ้น และยังช่วยให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ผิวพรรณงดงามเปล่งปลั่งอีกด้วย

อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับย่างแคร่

1. แคร่ไม้ไผ่ (ความสูงประมาณ 70 ซม.)
2. เตาอั้งโล่ 2 เตา และถ่าน
3. หมอน ผ้าคลุมตัวบางๆ (ใช้ใบกล้วยป่าคลุมตัวแทนเพื่อความเป็นธรรมชาติ)
4. สมุนไพรต่างๆ เช่น ใบพลับพลึง ใบละหุ่ง ใบมะละกอ ใบหนาด ใบกำปอง ใบเปล้า ว่านสาวหลง ใบเถาเอ็นอ่อน ฯลฯ (ขึ้นอยู่กับสมุนไพรในท้องถิ่นที่หาได้)

ขั้นตอนการย่างแคร่

1. นำสมุนไพรมาปูบนแคร่ที่เตรียมไว้ให้ทั่วแคร่
2. ตั้งไฟไว้ใต้แคร่ความร้อนที่ใช้ขึ้นกับความสูงของแคร่ถ้าสูงมากก็ใช้ไฟแรงตามความเหมาะสม
3. ผู้รับบริการขึ้นไปนอนบนแคร่ย่างแล้วใช้ใบกล้วยป่าห่มให้ผู้รับบริการ เพื่ออบไอร้อนเอาไว้ หลังจากอบประมาณครึ่งชั่วโมง สามารถทำการนวดและประคบสมุนไพรได้
4. รักษาอุณหภูมิของไฟให้อยู่ในระดับที่พอดีตลอดการให้บริการ

ระยะเวลาการย่างแคร่

ขึ้นอยู่กับอาการของผู้รับบริการ โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 1 – 1.30 ชั่วโมงต่อครั้ง และสามารถมารับบริการได้วันเว้นวันหรือตามความเหมาะสม ระหว่างที่ผู้รับบริการอย่างไฟอยู่นั้น อาจจะทำการนวดประคบสมุนไพร หรือทับหม้อเกลือไปด้วย สำหรับคนปรกติก็เช่นกัน สามารถมารับบริการได้เป็นประจำ หรืออาทิตย์ละ 1 – 2 ครั้ง

ข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติ

1. ผู้รับบริการไม่ควรดื่มน้ำเย็นขณะทำการย่างแคร่
2. ต้องคอยสอบถามอาการผู้รับบริการอย่างต่อเนื่อง
3. ไม่ควรทำในรายที่มีไข้ อ่อนเพลีย และผู้ที่มีประจำเดือน
4. ควรทำหลังรับประทานอาหารแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง

วิธีการเตรียมสมุนไพรสำหรับการย่างแคร่ ส่วนใหญ่จะเป็นถ่ายทอดมาจาก ครู อาจารย์ และ การรักษาแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่สรุปได้เป็น 3 แบบ คือ
1. การสับสมุนไพรแต่ละชนิดให้ละเอียดเข้าด้วยกัน
2. การวางสมุนไพรแต่ละชนิดไว้รวมกันโดยที่ไม่ต้องสับ
3. การเลือกใช้สมุนไพรตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น ปัจจุบันนิยมใช้ใบพลับพลึง
สมุนไพรอาจปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีตามธรรมชาติหรือปลูกกันในครัวเรือนหรือความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น

สรรพคุณของสมุนไพรที่ใช้ในการย่างแคร่

1. ว่านสาวหลง: แต่งกลิ่น ทำให้สดชื่นผ่อนคลาย
2. ใบพลับพลึง: รักษาฝีได้ทุกชนิด เช่น ฝีปะคำร้อย ฝีมะม่วง แก้อาการปวดเมื่อยตามข้อ เคล็ดขัดยอก ช้ำ บวม ฟกช้ำดำเขียว หรือพันตามอวัยวะที่เคล็ดขัดยอก บวม แพลงถอนพิษได้ดี
3. ใบละหุ่ง: เป็นยาขับน้ำนม แก้เลือดพิการ
4. ใบมะละกอ: แก้เกล็ดขัดยอก ลดอาการคัน
5. เถาเอ็นอ่อน: แก้ปวดเมื่อย เสียวตามร่างกาย เมื่อยขบ แก้เส้นตึง บำรุงเส้นเอ็น ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้นอืดเฟ้อ แน่นจุกเสียด
6. ใบหนาด: ทำให้การไหลเวียนของเลือดดี แก้บวม แผลฟกช้ำ แก้ปวดข้อ และกระดูก แก้กลาก แก้บิด ขับลม แก้ปวดท้อง ขับพยาธิ แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้หืด ห้ามเลือด ขับเหงื่อ ขับเสมหะ แก้ริดสีดวงจมูก

เอกสารอ้างอิง :
กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. การดูแลสุขภาพหญิงหลังคลอดด้วยการแพทย์แผนไทย พิมพ์ครั้งที่ 2 : ตุลาคม 2551 พิมพ์ที่ กิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก

 

468 ad