Pages Navigation Menu

สมาพันธ์การแพทย์แผนไทยล้านนา

กัวซากับโรคปวดเมื่อย

                                  ถ้ากล่าวถึงโรคปวดเมื่อย  พูดได้ว่าไม่มีใครที่ไม่รู้ และคนส่วนมากเคยเป็นโรคนี้  แต่จะมีอาการเจ็บปวดมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยของวัย ด้วยทฤษฏีการแพทย์แผนไทย คนที่มีอายุเกิน  32 ปี  เข้าสู่วัยธาตุลมหย่อน โดยเฉพาะธาตุลมในกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นยืดหยุ่นลดลง  ความสามารถในการเคลื่อนไหว การใช้แรงกล้ามเนื้อจึงลดลงด้วยและการขับพิษหรือของเสียออกก็ลดลงเช่นกัน  จึงมีอาการปวดเมื่อยเกิดขึ้น   อีกปัจจัยหนึ่งคืออาชีพ  ซึ่งอาชีพเป็นสิ่งกำหนดอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง ดังเช่นพนักงานคอมพิวเตอร์ต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆในอิริยาบทเดิมๆ  คอ มือ นิ้ว ดวงตาต้องทำงานหนัก  เป็นต้น การอยู่ในอิริยาบทเดิมนานๆทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต้องทำงานหนักเกินกำลัง เกิดพิษสะสม จึงมีอาการเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อตึง บีบรัดเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี  เกิดอาการปวดนานไปจะมีอาการชาร่วมด้วย

การออกกำลังกายเพื่อให้เหงื่อออกเป็นวิธีหนึ่งของการขับพิษออกทางผิวหนัง ซึ่งวิถีชีวิตในปัจจุบันวุ่นวายกับการงานจึงให้เวลากับการออกกำลังกายลดลง ความเจ็บป่วยก็มากขึ้นโดยเฉพาะโรคปวดเมื่อย เมื่อเริ่มมีอาการปวดเล็กน้อยไม่ค่อยใส่ใจดูแลรักษา จนอาการปวดเพิ่มมากขึ้นจึงเริ่มใส่ใจดูแลรักษา ซึ่งหมายความว่ามีพิษสะสมมากขึ้น สำหรับวิธีการรักษา

  1. กำจัดพิษที่สะสมในกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการกำจัดพิษออกโดยวิธีกัวซา
  2. กินยาสมุนไพรเพื่อเพิ่มธาตุลมในเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ ช่วยให้เลือดและลมไหลเวียนเป็นปกติ แก้อาการปวดเมื่อย

  กัวซา  คือหนึ่งในภูมิปัญญาแพทย์พื้นบ้านที่ตกทอดมาตั้งแต่โบราณอีกหนึ่งอย่างของชาวจีน คำว่า “กัว” ในภาษาจีนหมายถึงการขูด  ส่วนคำว่า “ซา” หมายถึงพิษ การกัวซา จึงหมายถึงการขูดเพื่อขับสารพิษออกทางผิวหนัง ซึ่งปรากฏบนผิวหนังเป็นรอยผื่นหรือจ้ำสีแดง

            บทบาทของการกัวซาคือการกระจายและทำให้เลือดลมไม่ติดขัด  กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต การไหลเวียนที่ดีจะทำให้เม็ดเลือดแดงนำออกซิเจนมาเลี้ยงร่างกายได้ดีขึ้น และเม็ดเลือดขาวไหลเวียนดีขึ้นด้วยจึงเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อสู้เชื้อโรคได้ดีขึ้น ทำให้สุขภาพแข็งแรง  ส่งเสริมการไหลเวียนของพลังลมปราณ  ขับพิษ ซึ่งเป็นเหตุของความเจ็บป่วยหรือเจ็บปวดโรคที่บำบัดด้วยกัวซาได้ผลดีที่สุด คือ ปวดเมื่อย  ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ ปวดบ่า ปวดศรีษะ ปวดแขน ปวดสะโพก หรือชาตามร่างกาย

            ขณะกัวซ่าบริเวณที่มีพิษสะสมหรือลมปราณติดขัดผู้ป่วยจะรู้สึกปวด ต่อเมื่อเกิดจ้ำผื่นแดงอาการปวดจะลดลงเพราะพิษถูกขับออกทางผิวหนังและลมปราณไหลได้สะดวก จะรู้สึกเบาสบาย ความเจ็บปวดเรื้อรังจะลดลงมาก และค่อยๆหายไปในวันรุ่งขึ้น การกัวซาจะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ทันที  การกินยาสมุนไพรประเภทขับการไหลเวียนของเลือดและลมจะช่วยให้ การสะสมของพิษเกิดได้ยาก ป้องกันการเกิดอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะคนในวัยอายุเกิน 32 ปี เป็นธรรมชาติของคนในวัยนี้ที่ธาตุลมไหลเวียนไม่ดี การสะสมของพิษในกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเกิดได้ง่ายกว่าคนในวัยอื่น จึงควรกินยาสมุนไพรร่วมกับการกัวซา

            สมุนไพรหรืออาหารที่ช่วยขับเลือดลมได้แก่สมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้

ใบมะกรูด กระช่าย กระเพรา โหราพา แมงลัก ใบยี่หร่า พริกไทย  เป็นต้น  กรณียาสมุนไพรตำหรับซึ่งเข้าสมุนไพรหลายตัวที่ใช้รักษาอาการปวดเมื่อยต้องปรึกษาแพทย์แผนไทยเพื่อการใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้เกิดผลการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อการมีชีวิตที่มีความสุขห่างไกลโรคภัย

 

                                                                                                                                                                                                                                               ผู้เขียน   พท. สุนทรี พีรกุล    สาขาเวชกรรมไทย  เภสัชกรรมไทย

อ้างอิง  หนังสือ กัวซาบำบัดขจัดสารพัดโรค  ผู้เขียน  ธีระศักดิ์ วัณนาวิบูล

ขอบคุณ รูปภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

468 ad